คอลัมน์ KTAM Focus : ยูโรอัพเกรด

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

3 เดือนก่อน (18 พ.ค.) ปธน.ฝรั่งเศส Emmanuel Macron จับมือ (แค่สำนวน…เพราะโควิดระบาดจับมือกันจริงๆไม่ได้) นายกฯเยอรมนี Angela Merkel ผุดไอเดียบรรเจิด “Franco-German initiative” มุ่งแสวงความร่วมมือระหว่างชาติยุโรปเพื่อสู้วิกฤตโควิด ประกอบด้วยหลายด้าน อาทิ สาธารณสุข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมและดิจิตอล (green and digital transition) อธิปไตยด้านอุตสาหกรรม (industrial sovereignty) รวมถึงแนวทางการกู้ยืมเงินร่วมกัน (joint European debt) อันเปรียบเสมือนกุญแจปลดล็อค ช่วยแก้ไขความไม่สมดุลของนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งเคยถ่วงความเจริญก้าวหน้าและสร้างความระหองระแหงในหมู่สมาชิกมาโดยตลอด

ความหวังการเปลี่ยนแปลงนโยบายก้าวสำคัญของอียู เข้ามาพอดีเป๊ะวันเดียวกับ “ข่าวครึกโครม” ความคืบหน้าการคิดค้นวัคซีนโควิดโดยบริษัท Moderna “จุดพลุ” หุ้นยุโรปวิ่งม้วนเดียว +14% ใน 3 สัปดาห์ ทว่าหลังจากนั้น…

หุ้นยุโรปแกว่งออกข้างตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา Stoxx Europe 600 สิ้นสัปดาห์ล่าสุด (21 ส.ค.) 365.09 ขาดอีกแค่ 5 จุดก็จะถึงเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 2020 โดยเฉลี่ยของบรรดานักกลยุทธ์ตามผลสำรวจของ Bloomberg

ปัจจัยลบหลายประการ เหนี่ยวรั้งราคาไว้ไม่ให้ไปต่อ สัมพันธ์ตึงเครียด สหรัฐ-จีน โควิดยังระบาด ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งยังคงเปราะบาง สะท้อนในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนที่ขยายตัวช้าลงเดือนนี้ IHS Markit flash composite PMI เผยออกมาวันศุกร์ 51.6 ลดลงจาก 54.9 เมื่อเดือน ก.ค. และต่ำกว่าคาด กดดัชนี Stoxx 600 ปิดลบเป็นวันที่ 5 ใน 7 วันทำการล่าสุด …หรือขาขึ้นของหุ้นยุโรปจะสิ้นสุดลงตรงนี้?

Global Fund Manager Survey จัดทำโดย Bank of America เดือน ส.ค. เผยความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก “bullish” สินทรัพย์ประเภทตราสารทุน เนื่องจากคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำไรของบริษัท และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยชื่นชอบ “หุ้นยูโรโซน” (19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร) มากสุดเหนือภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก “net overweight” (ส่วนต่างระหว่างผู้จัดการกองทุนที่ชอบและไม่ชอบ) 33% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

BlackRock บริษัทจัดการลงทุนใหญ่ที่สุดในโลก “upgrade” มุมมองหุ้นยุโรปจาก neutral เป็น overweight (10 ส.ค.) คาดหวังปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรหลัง lockdown ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่ดีกว่าสหรัฐ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอียู ขณะนักลงทุนสถาบันระดับโลกรายอื่นๆมองเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ (3 พ.ย.) ก่อความไม่แน่นอนแก่บริษัทอเมริกันเนื่องจาก Joe Biden ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตชูนโยบายปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล จึงคาดว่า fund flows อาจหนีออกจากสหรัฐไปเข้าสู่ตลาดอื่นๆ โดยมีหุ้นยุโรปเป็นเป้าหมายแรกๆ เพราะนอกจากความคุ้นเคยแล้ว บริษัทยุโรปโดยเฉพาะพวก green technology ยังได้ประโยชน์จากนโยบายสิ่งแวดล้อมของเดโมแครต ขณะสถานการณ์ระหว่างประเทศคงลดความร้อนแรงภายใต้การนำของ Biden น่าจะเป็นผลดีต่อภาคส่งออก

ยูโรแข็งค่ากว่า 10% ใน 3 เดือน (18 พ.ค. – 18 ส.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี สะท้อนความต้องการสินทรัพย์ยุโรป แต่อีกแง่หนึ่ง หากสกุลเงินหลักเบอร์สองของโลกแข็งค่าไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เงินเฟ้อชะลอ กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งเผชิญปัญหาเงินเฟ้อต่ำ (disinflation) และเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐรีบาวด์หลังเฟดเผยรายงานประชุมครั้งล่าสุด ประกอบกับ PMI ยูโรโซนต่ำกว่าคาดและการเจรจา Brexit ไร้ความคืบหน้า กดยูโรย่อลงหลังปิดสูงสุดรอบนี้ $1.1930 เมื่อวันอังคาร

ยูโรอ่อนค่าลงบ้าง สนับสนุนให้เงินเฟ้อฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีกับเศรษฐกิจยุโรปและแนวโน้มผลประกอบการบริษัท แถมน่าจะช่วยผันเงินบางส่วนออกจากตลาดบอนด์ไปเข้าตลาดหุ้นยุโรปมากยิ่งขึ้น เพราะยุคนี้ new normal ดอกเบี้ยต่ำ เงินมีต้นทุนถูกลงมาก นักลงทุนจึงมัก “มองข้ามช็อต” ทะลุปัญหาระยะสั้น แล้วซื้ออนาคตระยะยาว (หุ้น) กันวันนี้เลย!

เราเพิ่งอัพเกรดหุ้นยุโรป เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจาก underweight เป็น neutral โดยแสวงหาโอกาสเข้าซื้อเมื่ออ่อนตัว (buy dips) ดังเช่นในระยะนี้ เพราะเชื่อว่า “ข้อตกลงประวัติศาสตร์” จากการประชุมสุดยอดผู้นำอียูเมื่อ 21 ก.ค. อันมีสาระสำคัญประการหนึ่งคือ “กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป” (EU Recovery Fund) มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร นั้นสะท้อนความร่วมมือและการเปลี่ยนแปลงท่าทีด้านนโยบายการคลังของอียู ในเชิงสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมมากสุดเท่าที่เคยเห็นมา แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ตรงจุด และน่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของยุโรปต่อไปในระยะยาว “หุ้นยุโรปขาขึ้น” จึงไม่น่าจะสิ้นสุดลงตรงนี้ โดยเป้าหมายราคาหุ้นรวมถึงเป้าดัชนี มีโอกาส “อัพเกรด” ขึ้นไปได้อีก!

ธุรกิจแต่ละ sector ได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน เปิดโอกาสให้พอร์ตเชิงรุก (active) เลือกเฟ้นหลักทรัพย์เพื่อสร้าง alpha เครื่องมือหลักที่ใช้รับโอกาสจากปัจจัยนี้คือ กองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO) ลงทุนในหน่วยของ Invesco Continental European Small Cap Equity Fund (กองทุนหลัก) มุ่งสร้างการเติบโตระยะยาวโดยเน้นลงทุนหุ้น small cap ในยุโรป (ไม่รวม UK)

รายงานล่าสุดสิ้นเดือน ก.ค. ผู้จัดการกองทุนหลักมองหุ้น small cap มีโอกาสโตสูง ตรงกับปัจจัยที่ต้องการลงทุน (pure exposure) และมักเป็นเป้าหมายควบรวมกิจการ (M&A) นอกจากนี้ยังชี้ว่าการที่ EU Recovery Fund ลงทุนใน Green Deal ตอกย้ำความเป็นผู้นำของยุโรปทางด้าน green technology เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อันเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมหาศาลในระยะยาว

ดังนั้น กองทุนหลักจึงลงทุนใน green technology ประมาณ 30% ของพอร์ต ประกอบด้วยธุรกิจ solar farms, recycling, water treatment เป็นต้น เพราะเชื่อว่า บริษัทเหล่านี้จะเติบโตแข็งแกร่งกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดเสียอีก และภาพรวมหุ้นยุโรป small cap น่าจะ outperform ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ในมุมมองของผู้จัดการกองทุนหลัก

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน