EA ลุย 3 โครงการ 2-3 แสนล้าน หาเงิน-เปิดทางพันธมิตรไทย-ตปท.

HoonSmart.com>>“พลังงานบริสุทธิ์” ตั้งงบลงทุน 2-3 แสนล้านบาท ใช้  3 โครงการใหญ่ในช่วง 3-5 ปี  เตรียมใช้เครื่องมือการเงิน หาพันธมิตรร่วมทุน ล่าสุด เซ็น MOU  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศึกษาโครงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มั่นใจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เฟส 1 กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง คาดเสร็จสิ้นปี 63

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะใช้เครื่องมือทางการเงิน อาทิ การเพิ่มทุน, ตราสารทุน และหุ้นกู้ เพื่อรองรับการลงทุนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) โดยจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ลงทุนในโครงการโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในรูปแบบเขื่อน 2 โครงการ งบลงทุนประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาท รวมประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยหาพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนโครงการลงทุนต่างๆในปัจจุบันมีบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ลงทุน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24  ส.ค. 2563 EA และ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หรือ ATT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน  เป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA อย่างครบวงจร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ผลิตเซลแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมไฟฟ้า จนถึงการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลได้ ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เป็นฐานการลงทุนอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ATT และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อีกทั้ง ATT จะสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโครงการจัดทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน และการศึกษากระบวนการนำโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่กลับมาใช้งานใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาโรงงานนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ครบวงจร ซึ่ง ATT จะนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากจบการดำเนินงานโครงการ

นายสมโภชน์กล่าวว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ ได้ จำเป็นต้องมีทั้งเทคโนโลยีที่ดีเป็นตัวนำ เงินทุน และการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ บริษัท EA แสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และนำเงินทุนมาลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับกิจการในระยะยาว  แต่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและยังใช้เวลานานกว่าจะพัฒนาจนเข้าสู่ระยะที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ในระหว่างที่พัฒนาอยู่นั้น คู่แข่งจากต่างประเทศที่มีความสามารถและศักยภาพสูงก็มีการพัฒนาเช่นกัน ซึ่งพร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันทั้งในประเทศไทย และในตลาดต่างประเทศ จนเป็นอุปสรรคต่อภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ หากภาครัฐร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและแข่งขันได้ โดยเฉพาะการลดหรือยกเว้นอัตราภาษีในรูปแบบต่างๆ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยกลับมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ และฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในไม่ช้า

ปัจจุบัน ATT เป็นผู้ลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานสำหรับระยะที่ 1 ที่มีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการผลิตได้ภายในสิ้นปี 2563 หากสำเร็จ จะเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง ตามแผนที่วางไว้โดยเร็ว เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต