EGCO ยันกำไรปีนี้ 1 หมื่นล้าน 2โรงไฟฟ้าจ่อเปิด COD 340 MW

HoonSmart.com>>”ผลิตไฟฟ้า” ลั่นกำไรดำเนินงานปีนี้เท่าปีก่อน 1 หมื่นล้านบาท ยันแผน 5 ปีโตเฉลี่ย 5-6% เตรียม COD โรงไฟฟ้า 2 แห่งไตรมาสปลายปี  ใช้งบลงทุน 3 หมื่นล้านบาทพัฒนา 4 โครงการ เล็งขายธุรกิจเหมืองที่อินโดฯ  ต่อยอดธุรกิจพลังงานครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง  

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

นายสุวพันธ์ ฉ่ำเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชี และการเงิน บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทคาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2563 จะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกขาดทุนประมาณ 140 ล้านบาทได้รับผลกระทบทั้งโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมบำรุง 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่ขาดน้ำในการผลิตไฟฟ้า ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะกลับมามีกำไรได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตตั้งแต่ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานในปี 2563-2567 เฉลี่ยปีละประมาณ 5-6%

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทมีโครงการที่รอดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผน 4  โครงการ  เป็นโรงไฟฟ้า 3 โครงการ และไม่ใช่โรงไฟฟ้า คือโครงการ ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค (TPN) ขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.สระบุรี – ขอนแก่น ความยาวท่อ 342.8 กิโลเมตร หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะทำให้สัดส่วนพอร์ตโรงไฟฟ้าที่แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิงเปลี่ยนไป พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 18.86% เป็น 24% ก๊าซธรรมชาติ จาก 56.37% ลดลงเป็น 52% และถ่านหินลดลงจาก 24.77% เป็น 24%

ทั้งนี้ปลายปี 2563 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “กังดง” ที่ประเทศเกาหลี กำลังการผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์ (MW)และโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” ที่ไต้หวัน เฟส 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 320  MW ส่วนเฟส 2 กำลังการผลิตติดตั้งเท่ากัน คาดว่า COD ในไตรมาส 3/2564  และในไตรมาส 2/65 คาดว่า COD โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน” ที่ สปป.ลาว ปริมาณซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 514.30 เมกะวัตต์ และปริมาณขายไฟฟ้าให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จำนวน 130 เมกะวัตต์

ส่วนงบลงทุนปี 2563 ตั้งไว้ที่ 30,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกใช้ไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 9,000 ล้านบาท จะใช้ลงทุนใน 4 โครงการดังกล่าว บริษัทยังไม่มีแผนออกและเสนอขายหุ้นกู้ภายในปีนี้  ขณะนี้มีกระแสเงินสดในรูปแบบเงินบาท 4,000 ล้านบาท และสกุลเงินดอลลาร์ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายเทพรัตน์กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน โดยเปิดกว้างเรื่องพื้นที่การลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ   ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 28 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขาย ตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,475 เมกะวัตต์ รวมถึงแสวงหาโอกาสการลงทุน โรงไฟฟ้าชุมชน และธุรกิจการงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้เริ่มลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจหลัก เป็นโครงการขยายระบบขนส่ง น้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รวมถึงการลงทุนในธุรกิจ Smart Energy Solution ในฐานะผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมพลังงาน อาทิ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมระยอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ EIA คาดว่าจะขอแล้วเสร็จภายในปี 2563 และมีการพัฒนาโซลาร์ ในรูปแบบ Solar Solution Provider ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นขอเป็นผู้ประกอบการขนส่งให้บริการก๊าซ LNG กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ คาดจะมีปริมาณการนำเข้าประมาณ 200,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ มีแผนที่จะจำหน่ายธุรกิจถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ที่สนใจจะเข้าซื้อ แต่จะต้องให้ได้ราคาที่เหมาะสม  ทั้งนี้ธุรกิจดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง และมีแผนทำการตลาดจำหน่ายถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย

“เรายังมีจุดแข็งในธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้ในทุกๆปี” นายเทพรัตน์ กล่าว