บลจ.ไทยพาณิชย์มอง “บวก” หุ้นตปท.ลุยปันผล 2 กองทุน “หุ้นโลก-จีน”

HoonSmart.com>>บลจ.ไทยพาณิชย์ โชว์ผลงานบริหารกองหุ้นต่างประเทศ ปันผล 2 กองทุน “ไทยพาณิชย์ โกลบอล อิควิตี้” และ “ไทยพาณิชย์หุ้นจีนเอแชร์” รวมกว่า 79 ล้านบาท มอง “เชิงบวก” แนวโน้มตลาดหุ้นต่างประเทศ แนะจับตาความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีน

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลกว่า 79 ล้านบาท สำหรับ 2 กองทุนให้กับผู้ถือหน่วยพร้อมกันในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อิควิตี้ (SCBGEQ) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2563 – 31 ก.ค. 2563 และกำไรสะสม โดยกองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ กองทุน Veritas Global Focus (กองทุนหลัก) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก ซึ่งได้กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.3005 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 12 รวมจ่ายปันผล 2.6745 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 14 ก.พ. 2556) โดยกองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Global Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563)

ส่วนอีกกองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2563 – 31 ก.ค.2563 เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ ChinaAMC CSI 300 Index ETF (กองทุนหลัก) ซึ่งมีนโยบายลงทุนให้มีผลการดำเนินงานและความเสี่ยงใกล้เคียงกับดัชนี CSI 300 มากที่สุด โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.1621 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 7 รวมจ่ายปันผล 0.7620 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 13 ก.พ. 2558)

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศโดยมองว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สร้างความกังวลให้นักลงทุนถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างรวดเร็วเพื่อถือครองเงินสด เป็นสาเหตุให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม โดยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตามมาตรการ Lockdown ที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ส่งผลให้มีความต้องการในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์แอปพลิเคชัน รวมถึงการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้เป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Healthcare ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังถึงความเป็นไปได้ในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัส Covid-19

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาตลาดหุ้นได้เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยไปเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากนโยบายการเงินและการคลังที่ถูกประกาศใช้อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประคับประคองเศรษฐกิจ อีกทั้งแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินได้ตามปกติคลายความกังวลของนักลงทุนได้บางส่วน รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

สำหรับมุมมองในตลาดหุ้นจีนมองว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนในไตรมาส 1/2563 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ส่งให้เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -9.8 QoQ จากการปิดเมืองยาวนานกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนได้กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 2/2563 โดยขยายตัวร้อยละ 11.5 QoQ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศภายหลังการเปิดเมือง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ (Reverse repo rate, MLF rate, LPR rate) การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร การผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขยายกลางขนาดเล็ก (SMEs) และนโยบายการคลัง ได้แก่ การเพิ่มเพดานการกู้เงินของภาครัฐผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น การยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการเพื่อช่วยเหลือผู้นำเข้า และการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ในระยะถัดไปคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเห็นสัญญาณในเดือนกรกฎาคมจากดัชนีชี้นำภาคการผลิต (PMI manufacturing) ที่ระดับ 52.8 จุด และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจนอกภาคการผลิต (PMI Non-manufacturing) ที่ระดับ 54.2 จุด ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวทั้งสองดัชนี อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน