ศูนย์วิจัยกสิกรฯหั่นเป้าปีนี้ GDP หดตัว -10% ฟื้นตัว U สินเชื่อโต 6.5-8%

HoonSmart.com>>บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 63 เป็น-10% จากเดิมคาด -6% เผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ โควิด การเมือง เงินบาทแข็ง คาดกนง.ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย   สินเชื่อของระบบแบงก์โตผิดปกติ 6.5-8% เงินฝากขยายตัว 9-10%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 หดตัว -10% จากเดิมที่คาดไว้ -6% แนวโน้มยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง จะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped)

รัฐบาลเจอโจทย์ยาก ในการประคองเศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใด ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสฯ เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น

“รัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะ และคาดว่ากนง.คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน “บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

ด้าน นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ คาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปี 2563 จะขยายตัว 6.5-8.0% เทียบกับที่ขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งการเติบโตสูงกว่าปกติ สะท้อนผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง มากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแท้จริง โดยยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้ที่ระดับเอ็นพีแอลคงจะปรับขึ้นเข้าหา 3.5% ณ สิ้นปี 2563 เทียบกับ 3.23% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.  ปัจจุบันเงินฝากก็เติบโตสูงราว 9-10% จากปีก่อน

ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งมีสถานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5-9.5% และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ อีกทั้งมีสภาพคล่องในระดับสูง ทำให้มั่นใจว่ายังทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการประคองลูกค้าผ่านวิกฤตได้

ส่วนแนวโน้มธุรกิจนั้น นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า รายได้ของธุรกิจบางพื้นที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างตามนโยบายทยอยเปิดประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เข้าใกล้ภาวะปกติ โดยธุรกิจที่มีความเปราะบาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งคงเป็นกลุ่มที่ทางการอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง