รายงานพิเศษ : CWT หุ้นซ่อนมูลค่า โรงไฟฟ้า-รถไฟ-เรือเมล์

HoonSmart.com>>หุ้นชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป ซ่อนมูลค่าในอนาคต เป็นหุ้นที่หวังโตได้ โดยมีธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง สกุลฏ์ซี เป็นตัวชูโรง ตามด้วยโรงไฟฟ้า ที่มีแผนเข้าตลาดหุ้นในอนาคตอันใกล้ 

บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) ผู้ประกอบการโรงฟอกหนัง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเบาะรถยนต์ ค่ายรถยนต์ ปัจจุบันหันมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ , บริหารจัดการขยะชุมชน เทศบาลนครสวรรค์ ที่มีโอกาสพัฒนาสู่การสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งใหม่ และการลงทุนสัดส่วน 50 % ในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น (SKC) ซึ่งการลงทุนที่แตกไลน์จากโรงฟอกหนัง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า และ SKC เป็นไฮไลน์สำคัญของ CWT ที่จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนอย่างงามในอนาคต

หากจะพูดถึง CWT ขณะนี้ ไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ จากการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ตรงกันข้าม กลับเป็นหุ้นที่ซ่อนมูลค่าในอนาคตไว้ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่กิจการโรงไฟฟ้าหรือ SKC จะสร้างรายได้เป็นกอบกำ จากการเข้าตลาดหุ้น

มาดูว่า สกุลฏ์ซี ฯ มีความสำคัญอย่างไรกับ CWT

จากโครงสร้างการถือหุ้นของ SKC มีบริษัทโชคนำชัย ผู้ก่อตั้ง SKC ถือหุ้น 40 % โดยได้พันธมิตร CWT เข้ามาถือหุ้น 50 % และอีก 10 % ถือหุ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สกุลฏ์ซี ฯ ก่อตั้งเมื่อ 4 ส.ค. 2560 มีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ใช้วัตถุและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย คือ ยานพาหนะสมัยใหม่

ธุรกิจหลักปัจจุบันของ SKC ได้แก่ การต่อเรือไฟฟ้า , รถบัสไฟฟ้า และรถมินิบัส อนาคตยังรวมไปถึงแผนการผลิตครบวงจร รถ เรือ ราง (รถไฟ)

ความพิเศษของ SKC คือ นวัตกรรมการต่อเรือหรือรถ ด้วยการขึ้นรูปโดยใช้ Aluminum (อลูมิเนียม) ที่มีคุณสมบัติ เบา แข็งแรง ไม่เป็นสนิม เน้นความปลอดภัย ด้วยความชำนาญเชี่ยวชาญของนายนำชัย สกุลฏ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ผู้ก่อตั้ง SKC ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการฉีดและทำแม่พิมพ์รถยนต์ ทำให้งานขึ้นรูปอลูมิเนียม แทบไม่มีรอยต่อ

งานที่ SKC ภูมิใจนำเสนอสายตาผู้ชม วันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่คณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า และทัพนักข่าวจะได้ชม คือ รถบัสไฟฟ้าตัวอย่าง แบรนด์สกุลฏ์ซี  ขนาด 12 เมตร ที่ขึ้นรูปด้วยอลูมิเนียมคันแรกของโลก ซึ่ง สวทช. ส่งมือ 1 มาควบคุม จะออกมาอวดโฉม ผู้มาชม และนั่นหมายความว่า โอกาสที่ CWT – สกุลฏ์ซี จะได้เค้กจากการบริหารจัดการรถร่วม ของ ขสมก. จำนวน 1,500 คัน ไม่มากก็น้อย

จากการเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถ-เรือ ที่โรงงานสุพรรณบุรี ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความพร้อมหากได้รับการแบ่งเค้กนั้น ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน หากดูกำลังผลิตปัจจุบัน มีงานในมือประกอบรถมินิบัส ขนาด 7 เมตร จำนวน  200 คัน ซึ่งจะส่งมอบล็อตแรกปลายปีนี้ 25 คัน  ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกอบตัวรถ  ซึ่งสามารถผลิต-ประกอบได้ในไลน์ต่อเนื่อง 12 คัน/ สัปดาห์ละ   หรือปีละกว่า 2,000 คัน  ส่วนกำลังผลิตรถบัส EV ขนาด 12 เมตร สามารถผลิตได้ 10 คัน/วัน ขณะที่อู่ต่อรถ 7 เมตร ใช้เวลา 1 คัน/ อาทิตย์

สำหรับเรือไฟฟ้าสกุลฏ์ซี ขนาดใหญ่สุด 20 เมตร ที่ทำเสร็จ ใช้เวลา 20 วันเท่านั้น  ความพิเศษของเรือ เน้นความปลอดภัย โดยใส่โฟมใต้ท้องเรือ ช่วยพยุงการจมดิ่งของเรือที่นานถึง 3 วัน

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ ประธานกรรมการบริหาร บอกว่า  สกุลฎ์ซี จะเป็น S-Curve ตัวใหญ่ของ CWT หรือ เป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตครบวงจร รถ เรือ ราง ในอนาคต และมีแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวะมวล ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าและมีรายได้เชิงพาณิชย์ แล้ว จำนวน15 เมกกะวัตต์ มีแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน

จากภาพธุรกิจการผลิต รถ-เรือ-ราง ของ SKC และอนาคตโรงไฟฟ้าที่มีแผนเข้าตลาดหุ้น แล้ว  เป็นการฉายภาพให้เห็นว่า CWT เป็นหุ้นที่หวังโตได้ในอนาคตอันใกล้นี้