ADVANC เปิดแคมเปญใหม่ คนไทยไร้ E-Waste ทิ้งรับพอยท์

HoonSmart.com>>“แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” วางเป้าติดตั้งโซลาร์ตามศูนย์ข้อมูล และติดที่สถานีฐานจากทั้งหมด 3 หมื่นแห่ง ย้ำใน 3 ปี ติดครบ 6 พันแห่ง หวังลดต้นทุนค่าไฟฟ้า พร้อมเปิดแคมเปญใหม่ เอไอเอส E-waster ทิ้งรับพอยท์ เปลี่ยนขยะอีเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน  จัดทำโครงการ คนไทยไร้ E-Waste เป็นแกนกลางอาสารับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทย ไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยมีจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2 พันจุดทั่วประเทศ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดแคมเปญใหม่ “เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์” ที่ร่วมภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ใน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ โดยนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ ไปยังเอไอเอสช็อปใกล้บ้าน แจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง และสแกน QR Code เพื่อรับ AIS Points จากแท็บเล็ตของพนักงาน ซึ่งจะแสดงผล AIS Point ที่ได้รับทันทีผ่าน Notification โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวม AIS Point ได้ที่ App My AIS โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้นมีค่า 5 คะแนน 1 หมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ก.ย. 63 ถึง 31 ต.ค. 63

ทั้งนี้ ยังเน้นให้ความรู้การทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยตามหลักสากล ใน 3 ขั้นตอน คือ ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต (Format and Factory Reset) ถอดเมมโมรี่การ์ดออกออกก่อนทิ้งทุกครั้ง หากโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือ เปลี่ยนสี ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง

 

“ที่ผ่านมา เราจึงมุ่งมั่นในการลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังจัดทำโครงการ คนไทยไร้ E-Waste อาสารับขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill ทั้งระบบ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เราสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการที่ได้รับมาตรฐานระดับโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 710 ตัน” นายสมชัย กล่าว

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว จากรายงานของ The Global E-Waste Monitor 2020 มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) คาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะมีมากถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน ในปี 2019 และจะสูงขึ้นถึง 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน ในปริมาณขยะทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 17.4 ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 82.6 ไม่สามารถติดตามได้

ปัจจุบันโครงการ คนไทยไร้ E-Waste มีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่รวมกันกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ นอกจากนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ คนไทยไร้ E-Waste ได้ที่ https://ewastethailand.com

ด้าน น.ส.นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน  เปิดเผยว่า ตามแผนกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างยั่งยืน บริษัทมีแผนในการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ในฐานศูนย์ข้อมูล (Data Center) และสถานีฐาน โดย Data Center ปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 2 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง ส่วนสถานีฐานปัจจุบันติดตั้งแล้วเสร็จประมาณ 1,000 แห่ง จากทั้งหมด 30,000 แห่ง ตั้งเป้าหมายใน 3 ปี  6,000 แห่ง ทั้งนี้ยังระบุไม่ได้ว่าสามารถลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าได้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา แต่เริ่มเห็นประสิทธิภาพหลังติดตั้งของโครงการนี้ดีขึ้น