สมาคมตราสารหนี้ฯ ห่วง “บาท” พลิกแข็งค่า

ThaiBMA ห่วงเงินบาทแข็งพลิกกลับเป็น “แข็งค่า” เหตุเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ “พัก” ในไทย จับตาเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยในการบรรยายเรื่อง “ตราสารหนี้ ทางเลือกการลงทุนที่ต้องรู้” โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 14-29 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง ตามทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนประเมินว่าผลกระทบจากนโยบายสงครามการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเกินดุลการค้าและการส่งออกของไทย

ธาดา พฤฒิธาดา

“ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น 2-3 หมื่นล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันต่างชาติขายตราสารหนี้ระยะสั้นไปแล้ว 7.99 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะเกิน 1 ปี 8.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เงินไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะตราสารหนี้ดังกล่าวให้ผลตอบแทนประมาณ 1% ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเกิน 1% ถ้าถือไว้จะขาดทุน จึงเทขายออกไปก่อน”นายธาดากล่าว

เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ไทย

ทั้งนี้ ณ วันที่ 29 มิ.ย.2561 เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดสารหนี้ฯสุทธิ 4,368 ล้านบาท แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีจนถึงวันที่ 13 มิ.ย.2561 ที่มีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ฯสุทธิ 45,942 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการถือครองตราสารหนี้ฯสะสมของต่างชาติยังอยู่ที่ 8.43 แสนล้านบาท

นายธาดา กล่าวว่า ทันทีที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ สิ่งที่ตามมา คือ เงินทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่และไม่มีที่ไป จะไหลเข้าพักในไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน 12 ปี ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงจากนี้ไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับเหมาะสม

“แม้ว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง และทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐและไทยมีส่วนต่างมากขึ้น แต่เราก็เชื่อว่าเงินจะไม่ไหลไปสหรัฐ เพราะเมื่อดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะพบว่าพันธบัตรระยะ 10 ปีของไทยให้ผลตอบแทน 1.35% ส่วนพันธบัตรสหรัฐให้ผลตอบแทนเพียง 0.10% นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยลดการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐลงอย่างมาก ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นตามดอกเบี้ยสหรัฐ”นายธาดากล่าว

ผลตอบแทนที่แท้จริงพันธบัตรระยะ 2 ปี/10 ปี ของรัฐบาลสหรัฐและไทย

นายธาดา ระบุว่า ThaiBMA ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในปีนี้ และปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.3% ซึ่งต่ำกว่ากรอบล่างของอัตราเงินเฟ้อที่กนง.กำหนดไว้ที่ 1.5% ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี สำหรับบริษัทต่างๆที่มีแผนปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว เพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงิน

นายธาดา กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะเมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะ 2 ปี และระยะ 10 ปี พบว่ามีส่วนต่างดอกเบี้ยเพียง 0.33% ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตไปอีก 2 ปีก่อนจะเข้าสู่ภาวะเติบโตถดถอย สอดคล้องข้อมูลเมื่อปี 2549-2550 หรือ 2 ปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐปี 2551-2552 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปีและระยะ 10 ปีมีส่วนต่างใกล้ 0% และบางช่วงติดลบ

“เราติดตามผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะ 2 ปีและ 10 ปี เพราะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยเมื่อใด ซึ่งเมื่อดูจากผลตอบแทนพันธบัตรในปัจจุบันที่มีส่วนต่างเพียง 0.33% ก็มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีไปอีก 2 ปีก่อนเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่ถดถอย อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตลดลง”นายธาดากล่าว

ความชัน Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและไทย

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทย หลังจากมีแรงขายออกมาในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ และด้วยสภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่มาก ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลอยู่ที่ 1.1-1.2% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ที่ 1.5% และคาดว่าปีนี้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะ 10 ปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.7%