ไทยเลิกคุมชอร์ตเซล 1 ต.ค.63 เก็งเปิดทางแบงก์ปันผลตามตปท.

HoonSmart.com>>โบรกเกอร์เตรียมระบบพร้อมรับการกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลตามปกติ และกำหนดราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงสุด (ซิลลิ่ง) และลดลงต่ำสุด (ฟลอร์)ไม่เกิน 30% นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป

นักลงทุนต้องพร้อมรับมือกับภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะการขายล่วงหน้าหรือชอร์ตเซลสามารถเสนอในราคาเท่ากับที่ซื้อขายครั้งสุดท้ายก่อนหน้าได้ หลังจากใช้มาตรการชั่วคราว ต้องชอร์ตเซลในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถทุบราคาขายหุ้นลงไปได้มากนัก

ส่วนการกลับมาใช้ราคาซิ่งลิ่ง-ฟลอร์ 30% ในแต่ละวัน เพื่อให้ตลาดสะท้อนภาวะการซื้อขายที่แท้จริง เทียบกับในช่วงตลาดผิดปกติต้องควบคุมการขึ้น-ลงได้ไม่เกิน 15% เพื่อไม่ให้ตลาดผันผวนแรงเกินไป

ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากหลายประเทศควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น แม้ยังมีการล็อกดาวน์รอบ 2 ในบางประเทศบ้าง  หรือมีปัจจัยการเมืองเกิดขึ้นก็ตาม  ตลาดหลักทรัพย์จึงควรกลับมาใช้เกณฑ์ตามปกติ เพื่อให้การซื้อขายเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานมากที่สุด

เช่นเดียวกับมาตรการการห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2563 และห้ามเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการของต่างประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รอผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ที่ส่งข้อมูลเข้ามาให้พิจารณาแล้ว แต่ขอรอดูข้อมูลของเดือนต.ค.นี้ก่อน  คาดว่าธนาคารทุกแห่งมีเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 12% เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธปท.ตัดสินใจยกเลิกมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางต่างประเทศประกอบด้วย อาทิ สหรัฐอเมริกาจะครบระยะเวลาการห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผลในเดือนก.ย.นี้ ขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต่อมาตรการออกไปหรือไม่ ส่วนในยุโรปจะครบกำหนดในเดือนต.ค.นี้

หากธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ไม่ต่อมาตรการดังกล่าวออกไป  จะต้องเหตุผลอะไร เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกดีกว่าที่คาด ล่าสุด OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ปรับคาดการณ์ปีนี้จะหดตัว 4.5% จากเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาว่าจะหดตัว 6% ส่วนปีหน้าจะเด้งขึ้น 5% รับผลดีจากการควบคุมไวรัสโควิด-19 และธนาคารกลางหลายประเทศยังคงมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

เชื่อว่าธปท.จะประกาศให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนเก็งกำไรแล้ว ส่งผลให้ราคาหุ้นของแบงก์ใหญ่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย. 63) เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

สถานการณ์ขณะนี้ สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นแบงก์อยู่ในพอร์ต น่าจะมองหาโอกาสทยอยซื้อเก็บไว้บ้าง  เพราะราคาถูก นอกจากมีข่าวดีผ่อนปรนมาตรการจ่ายเงินปันผลแล้ว ยังคาดว่าอัตราผลตอบแทนปันผลก็น่าสนใจ มีโอกาสได้กำไรสองเด้ง โดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องเพิ่มทุนนานถึง 2 ปี เหมาะสำหรับถือลงทุนระยะยาว