ธนาคารโลกคาดปีนี้ -8.3% ปีหน้าศก.ไทยฟื้นโต 4.9%

HoonSmart.com>>ธนาคารโลกคาดกรณีที่แย่สุด เศรษฐกิจปี 63 จะหดตัว -10.4%  ปี 64 ขยายตัวได้ 3.5% ติงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่ ควรจะถึงมือประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่านี้ 

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้หดตัว -8.3% อัตราเงินเฟ้อ -0.9% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าจะหดตัว -10.4% ส่วนในปี 2564 เศรษฐกิจน่าจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 4.9% อัตราเงินเฟ้อ 1% แต่หากเป็นกรณีที่แย่สุดคาดว่าจะยังขยายตัวได้ 3.5%

ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตเพียง 0.9% นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2510 จากครึ่งปีแรกจีนหดตัว 1.8% ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ หดตัวเฉลี่ย 4% ทั้งนี้เกิดความตื่นตระหนก 3 เรื่อง คือ ความกังวลจากปัญหาโรคระบาด, ความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากในไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงความล่าช้าการจัดทำงบประมาณปี 2563  จึงประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้ หดตัว -8.3% และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปีหน้าที่ระดับ 4%

การจะให้เศรษฐกิจไทยกลับไปฟื้นตัวได้ดีในระดับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี นอกจากนั้น ในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบด้วย 1.ความไม่แน่นอนทางการเมือง 2.ปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งกรณีของน้ำท่วม และภัยแล้ง 3.การแพร่ระบาดที่อาจจะกลับมาอีกในระลอกสอง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และมีโอกาสหดตัวได้มากถึง -10.4% ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายสุด

ด้านนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน มองว่าเม็ดเงินที่ออกมามีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่การเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ควรจะทำได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงภาคครัวเรือน ส่วนมาตรการ “คนละครึ่ง” ที่ให้เงินแก่ประชาชน 3,000 บาทใช้ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยนั้น มองว่าอาจจะยังไม่ตรงเป้าหมายเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลควรต้องมีมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย