หยวนต้าเชียร์ 7 หุ้นรอเด้ง กลุ่มนิคมฯ-ค้าปลีก-อิเล็กฯเด่น

HoonSmart.com>>หุ้นผันผวน เหมาะเก็งกำไร-เล่นหุ้นมีข่าว บล.หยวนต้าแนะ AOT-MINT-CPALL-SCC-KBANK-GULF-EA ขาชอร์ตจ้องซื้อคืน บล.เอเซียพลัสมองนิคมฯได้ประโยชน์เปิดต่างชาติเข้าประเทศ 1 ต.ค. เชียร์ WHA- AMATA ครม.เห็นชอบมาตรการ ‘คนละครึ่ง’ หนุนค้าปลีกดีขึ้นไตรมาส 4 CPALL วิ่งฉิว ขายหุ้นกู้ 4 ชุดสำเร็จมีเงินสร้างโอกาสขยายธุรกิจ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยอดขายเติบโต 

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) รายงานว่ามีหุ้น 11 บริษัทที่มียอดชอร์ตเซลสะสมมากในเดือนก.ย. 2563 จึงจัดชุดหุ้นที่เหมาะ “เก็งกำไร” จำนวน 7 บริษัท ได้แก่ AOT, MINT, CPALL, SCC, KBANK, GULFและ EA ที่มีโอกาสถูกซื้อคืนในลักษณะ Short Covering เพราะราคาหุ้นปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวมาใกล้ต้นทุนเฉลี่ยยอดชอร์ตเซล รวมถึงธีม Window Dressing และ Short Covering ด้วย

บล.เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า มาตรการเปิดประเทศอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป จะเป็นผลบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม หลังจากราคาหุ้นปรับตัวลงไปมากจน P/E ของกลุ่มเหลือเพียง 12 เท่า คาดว่าธุรกิจจะกลับมาสดใสอีกครั้ง เพราะผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินสามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมโครงการได้ เลือก WHA จากกำไรจะทำจุดสูงสุดของปี และโอนทรัพย์เข้ากอง REIT กว่า 4,600 ล้านบาทให้ราคาเป้าหมาย 4.89 บาท และ AMATA เป้าหมาย 35.70 บาทจากการมีที่ดินระดับ 1 หมื่นไร่ในพื้นที่ EEC

วันที่ 29 ก.ย. 2563 ครม.เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนและเห็นชอบโครงการ “คนละครึ่ง” ช่วยค่าใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท/คน จำนวน 10 ล้านคนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.18% และเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการ ‘คนละครึ่ง’ ที่จะเริ่มในเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้น่าจะช่วยหนุนค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ยอดค้าปลีกหดตัวลดลงเล็กน้อยเหลือ 7.2% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะหดตัว 8.9%

ด้านราคาหุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นแรง คาดแนวโน้มกำไรจะดีขึ้น และบริษัทยังประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้จำวน 4 รุ่น เพื่อนำเงินไปสร้างโอกาสในการเติบโต รวมถึงส่งต่อโอกาสต่างๆ ไปยังทุกภาคส่วนในสังคมไทย ก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นขออนุญาตออกเสนอขาย มูลค่ารวมไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

สำหรับตลาดหุ้นวันที่ 29 ก.ย. พลิกล็อกไม่เด้งขึ้นต่อตามดาวโจนส์ที่พุ่งแรง ดัชนีปิดที่ระดับ 1,257.34 จุด -5.68 จุด หรือ -0.45% มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 38,205 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้น 1,487 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนไทยซื้อ 1,266 ล้านบาท   โดยมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA ปรับตัวขึ้นแรง 6.50บาทหรือ4.38% ปิดที่ 155 บาทด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 1,221ล้านบาท และกลุ่มสื่อ VGI-PLANB  แต่ขายแบงก์ใหญ่ออกมามาก

ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีหุ้นปรับตัวลงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียหลายแห่งและยุโรปปรับตัวลง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และติดตามการดีเบตผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ  ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันและผู้ท้าชิงตำแหน่ง โจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรเดโมแครตในคืนนี้ตามเวลาสหรัฐฯ และเช้าวันพุธตามเวลาไทยรวมถึงไทยรับผลจากปิดสัญญาซีรี่ย์ U (S50U20) หมดอายุในตลาด TFEX

บล.โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลในอดีตพบว่าการโต้วาทีครั้งแรกจะมีผลกับโพลมากที่สุด จึงมีโอกาสที่จะได้เห็นนโยบายระหว่างประเทศที่ aggressive มากขึ้นจากทรัมป์ เพื่อเรียกคะแนนเสียงกลับมา อาจกระทบจิตวิทยาการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ ส่วนปัจจัยในประเทศ วันนี้เป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของ S50U20 ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็น S50Z20 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทยอยปิดสถานะ Short ในช่วง 2 วันที่แล้ว ทำให้สถานะปัจจุบันของต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Long เล็กน้อยอยู่ราว +853 สัญญา คาดทำให้การ Rollover รอบนี้มีความผันผวนลดลง

ด้านเงินบาทอ่อนค่า 31.65 บาท กดดันกลุ่มโรงไฟฟ้า, PTTEP แต่บวกต่อกลุ่มส่งออก (TU, CPF, GFPT, KCE, HANA, XO, SAPPE)

นายสมชาย สิริปัญญานนท์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเอสวีไอ (SVI) เปิดเผยว่า กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พบว่า ผลิตภัณฑ์ป้ายแสดงราคาสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขยายตัวโดดเด่น เติบโตเฉลี่ยปีละ 21.2% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2,037 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาด 690 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ SVI ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ป้ายแสดงราคาสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ต้องการโฟกัสและขยายตลาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปและเอเชียแปซิฟิก โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงานคนในการปรับเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า อีกทั้งยังสร้างความยืดหยุ่นในการกำหนดราคาสินค้าในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย สอดรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าในแต่ละช่วงเวลา หรือทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายได้แบบเรียลไทม์ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการด้านสต๊อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทตั้งเป้าว่าเพิ่มสัดส่วนการขายเป็น 12-15% ภายในสิ้นปีนี้ จากปีก่อนที่มีสัดส่วนการขายเพียง 3% ของยอดขายรวม