คอลัมน์ความจริงความคิด : ข้อผิดพลาดในการวางแผนเพื่อเกษียณอายุ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใกล้ปลายปีก็ใกล้ฤดูเกษียณอายุกันแล้ว แม้จะเจอ Covid แต่ “Time and Tide wait for no man” แปลเป็นไทย “เวลาและวารี ไม่ใยดีจะคอยใคร” เมื่อถึงเวลา เราก็ต้องเกษียณ แต่ปัญหาคือ เราเตรียมพร้อมยัง

จากรายงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 15 ม.ค. 2013 แม้จะเก่าไปหน่อย แต่ก็ให้ข้อมูลที่ดี และ ให้แนวคิดในการวางแผนเกษียณอายุได้ดี พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมสำหรับการวางแผนเกษียณ ดังนี้

(1) เริ่มวางแผนช้าเกินควร: เพียงร้อยละ 38 ที่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณ อายุเฉลี่ยที่เริ่มต้นวางแผนเพื่อการเกษียณคือ 42 ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับผลการศึกษาของประเทศอื่นๆ

(2) มั่นใจมากเกินควร: ผู้ที่ไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณ แต่มีความมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปัจจุบันมีสูงถึงร้อยละ 71

(3) ขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม: โดยเฉลี่ยคาดว่าจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และการละเลยผลของเงินเฟ้อที่มีต่อค่าใช้จ่ายในอนาคต เป็นต้น

(4) ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร: สัดส่วนการทดแทนรายได้ (Income Replacement Ratio) ที่ผู้ตอบใช้ในการวางแผนมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 34 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 70 ซึ่งเป็นค่าขั้นต่าที่นิยมใช้ในการวางแผนทางการเงิน

(5) ประมาณอายุขัยเฉลี่ยน้อยเกินควร: ทำให้มีโอกาสที่เงินออมเพื่อการเกษียณจะหมดก่อนสิ้นอายุขัย

(6) ออมน้อยเกินควร: ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกษียณทุกข์ เนื่องจากมีปริมาณเงินส่วนขาด ณ วันเกษียณค่อนข้างมาก แต่ถ้ารวมอสังหาริมทรัพย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์เกษียณ พบว่าส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกษียณสุขและมีปริมาณเงินส่วนเกิน ณ วันเกษียณ เพิ่มสูงขึ้น

(7) การเกษียณอายุก่อนกำหนด: ร้อยละ 28 ต้องการเกษียณก่อนกาหนด ผู้ที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสาหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ถ้าผู้เกษียณก่อนกาหนดยินยอมเกษียณอายุช้าลง 1 ปี พบว่าร้อยละ 51 ของผู้เกษียณก่อนกาหนดจะไม่ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

อ่านแล้วนึกถึงตัวเองเลย เราเป็นอย่างนั้นรึป่าว เรามีเงินไม่พอใช้ยามเกษียณเพราะอะไร ใช่ขยันน้อยไป หรือ บริหารเงินไม่เป็น ถ้ามองคนไทยส่วนใหญ่จากงานวิจัยฉบับนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่ขยัน แต่เป็นเพราะเราบริหารเงินไม่เป็นในหลายๆข้อ ได้แก่

ไม่มีความรู้ เช่น ไม่รู้ว่าเกษียณต้องใช้เงินเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่รู้ว่าวัยเกษียณจะเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อเกษียณมีอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าสวัสดิการสำหรับคนเกษียณมีอะไรบ้าง ฯลฯ

ไม่มีข้อมูล อยากหาข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณไม่รู้จะหาที่ไหน ทั้งที่ตอนนี้เทคโนโลยีไปไกลมาก สามารถหาข้อมูลได้สะดวก แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ก็ขอแนะนำลองเข้าเว็บไซด์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนะ ที่นั่นมีข้อมูล บทความเรื่องการวางแผนการเงินมากมาย และที่สำคัญไม่เกี่ยวข้องกับการขายอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นข้อมูลหรือบทความที่เราอ่านจะเป็นข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์จริงๆ

ประมาท คือ มั่นใจว่ามีเงินพอใช้ ลูกหลานเลี้ยงดู สุขภาพแข็งแรง ถ้าได้ตามที่คิดทั้งหมดก็ถือว่าโชคดียิ่งกว่าถูกหวยอีก แต่บอกได้เลยนะ โอกาสได้อย่างที่หวังมีน้อยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ไม่รู้จะปรึกษาใคร หรือ หาข้อมูลจากไหน ปัญหาคือ มีหลายองค์กร หลายสถาบันการเงินมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำการวางแผนการเงินอยู่เยอะมาก เช่น แบงค์ บริษัทประกันชีวิต ฯลฯ แต่เรากลัวว่าอาจมีค่าใช้จ่าย สบายใจได้นะถ้ากลัวเรื่องนี้ เกือบทุกองค์กรให้คำปรึกษาฟรีหมด แต่บางคนอาจกลัวถูกขายสินค้า เช่น ประกัน กองทุน ฯลฯ สิทธิในการซื้ออยู่ที่เรานะ ไม่มีใครบังคับให้เราซื้อได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นถ้าเราดูแล้วสินค้านั้นไม่มีประโยชน์กับเรา เราก็ไม่ต้องซื้อ ถ้ามีประโยชน์ เราอาจเก็บเป็นข้อมูลเพื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้

แต่ไม่ว่าอย่างไร เรื่องเกษียณอายุ เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว และเราหนีไม่พ้น (ถ้าไม่ตายก่อน) เราต้องตัดสินใจจะสู้ คือ วางแผน หรือหนี คือปล่อยตามบุญตามกรรม ไม่ว่าเราตัดสินใจอย่างไร ตัวเราที่รอเราอยู่ตอนอายุ 60 คือคนที่รับผลลัพธ์ของการตัดสินใจของเราวันนี้ทั้งสิ้น

บทความอื่นๆ

คอลัมน์ความจริงความคิด : 10 ข้ออ้างของการไม่วางแผนเกษียณ