โรงกลั่น-ปิโตร ฟื้นคืนชีพ ตลาดสดใส ชอร์ตเซลลดฮวบ

HoonSmart.com>> หุ้นพลังงานที่ลงลึก ได้ราคาน้ำมันดิบเด้งกลับแรง 5% ค่าการกลั่นขยายตัว ไล่หุ้นโรงกลั่น ปิโตรเคมีวิ่งเร็ว ปลุกตลาดหุ้นบวก 7 จุด ต่างชาติถือโอกาสทิ้งไม่ยั้ง 3,469 ล้านบาท บล.บัวหลวงแนะนำ TOP- IVL มาร์จิ้นดีขึ้น ส่วนบล.ดีบีเอสฯเชียร์ PTT-PTTEP หุ้นไฟฟ้าพลังงานทดแทนนิ่งกับทรุด RATCH แย้มปิดดีลซื้อกิจการไตรมาส 4 คาดเซ็น PPA กวางจิเวียดนามปีหน้า กลุ่มปตท.เริ่มติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล

 

วันที่ 6 ต.ค. ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นติดต่อเป็นวันที่สองตามทิศทางเดียวกับตลาดเอเชีย นักลงทุนสลับกลุ่มเข้ามาไล่ซื้อหุ้นพลังงาน ได้ราคาน้ำมันดิบเด้งกลับแรงกว่า 5% เข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศการเก็งกำไร ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น 7.16 จุด หรือ 0.58% ปิดที่ระดับ 1,250 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 56,520 ล้านบาท แม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงขายออกมารุนแรงถึง 3,469 ล้านบาท ได้แรงรับของสถาบันไทย 2,988 ล้านบาท และนักลงทุนช่วยซื้อ 1,063 ล้านบาท

บล.บัวหลวง ให้น้ำหนักหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมีเท่ากับตลาด โดยยังคงแนะนำซื้อ TOP และ IVL จากค่าการกลั่นขยายตัวในทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนต่างราคาปิโตรเคมีไปหลายทิศทาง แนวโน้มอุปสงค์ฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนค่าการกลั่นรีบาวด์และอัตรากำไรปิโตรเคมีที่แข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปี

นอกจากนี้ยังมั่นว่า IVL และ SCC จะมีกำไรดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2563 รวมถึง CBG, OSP, NOBLE, ORI, JMART, JMT และ COM7 เป็นต้น

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) มองราคาน้ำมันพุ่งแรงเป็นข่าวบวกกับหุ้นในกลุ่มน้ำมันและก๊าซ คือ PTTEP และ PTT รวมทั้งเป็น Sentiment บวกกับกลุ่มโรงกลั่นในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสต็อก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังต่ำกว่าระดับปิดสิ้นไตรมาสที่ 3/2563 อยู่ประมาณ -2.4% ทำให้ราคาหุ้นอาจจะยังผันผวนได้อีก ดังนั้นกลยุทธ์จึงเน้นเก็งกำไรแบบไม่หวังส่วนต่างกำไรมากไปก่อน

สำหรับหุ้น PTTEP ฝ่ายวิจัยฯ บล.ดีบีเอสฯ คาดกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ไว้ที่ 5.15 พันล้านบาท (+19% QoQ, -51% YoY) การฟื้นตัว QoQ มาจากปริมาณขายเพิ่ม ราคาขายเฉลี่ยฟื้นตัว แต่บางส่วนถูกชดเชยด้วย Unit cost ที่สูงขึ้นราว +2% QoQ และรายการพิเศษด้านภาษี & ขาดทุนจากทำประกันความเสี่ยงราว 660 ล้านบาท ด้านราคาหุ้นอ่อนลงรับข่าวลบไปแล้วพอควร แนะนำซื้อเก็งกำไร ราคาพื้นฐาน 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 101 บาท

ส่วน PTT ให้ราคาพื้นฐานไว้ที่ 43 บาท ส่วนการเสนอขายหุ้น OR หลังก.ล.ต.อนุมัติ มีเวลา 6 เดือนและต่ออายุได้อีก 6 เดือน ต้องดูสภาวะตลาดก่อน สำหรับการดำเนินงาน ธุรกิจก๊าซและน้ำมันดีขึ้นในครึ่งปีหลังจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้น ด้านธุรกิจโรงกลั่น ค่าการกลั่นต่ำมากจากต้นทุนน้ำมันดิบสูงขึ้น

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจอะโรเมติกส์จะมีสเปรดลดลง เพราะมีอุปทานใหม่เข้ามา แต่สายโอเลฟินส์ดีขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันดิบ

ด้านกลุ่มปตท. นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม เปิดเผยว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มริเริ่มโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง  ในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ ทั้งนี้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท

“โครงการนี้ นับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล นอกจากเป็นพลังงานสะอาด ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้” นายวิทวัส กล่าว

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปดีลซื้อกิจการอย่างน้อย 1 ดีล ในไตรมาส 4  ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ขนาด 1,320 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม คาดว่าจะลงนามสัญญา PPA ให้ได้ในปี 2564 และเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 2568 ตามเป้าหมาย ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่ม 400 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 30% ทั้งปีมีกำลังการผลิตเข้ามาใหม่เป็นไปตามเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สิ้นปีมีทั้งสิ้น 8,714.68 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม หุ้นไฟฟ้าพลังงานทดแทน ราคากลับลดลง  โดยเฉพาะ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ปิดต่ำที่ 4.84 บาท -0.31 บาทหรือ 6.02% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากผิดปกติ 391 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสถูกชอร์ตเซลหนัก ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.ที่เริ่มกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ  วันนั้นหุ้น CKP มียอดชอร์ตเซลมากถึง 17.57%
จำนวน 1.61 ล้านหุ้น มูลค่า 9.15 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นก็ลดลงอย่างชัดเจน วันที่ 5 ต.ค. เหลือสัดส่วน 2.69% จำนวน 1.2 ล้านหุ้น มูลค่า 6.31 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมชอร์ตเซล วันที่ 5 ต.ค. พบว่าหุ้น AOT มีสัดส่วนชอร์ตเซลสูงที่สุด 18.02% จำนวน 3,529,400 หุ้น มูลค่าประมาณ 198.98 ล้านบาท ตามด้วย TMB สัดส่วน 14.53% จำนวน 25,186,300 หุ้น มูลค่า 21 ล้านบาท TRUE 14.19% จำนวน 8,098,100 หุ้น มูลค่า 23.85 ล้านบาท และ CK 12.81% จำนวน 152,600 หุ้น มูลค่า 2.54 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการทำชอร์ตเซลพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ทำรายการค่อยๆน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อวันที่ 1-2 ต.ค.ที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนมากกว่า 10 %จำนวนมาก

บล.โนมูระพัฒนสินรายงานว่า การใช้มาตรการปกติ วันที่ 1-2 ต.ค. พบว่ายอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นมาที่ 2,106-2,128 ล้านบาท ตามลำดับ เปรียบเทียบจากวันที่ 30 ก.ย. ที่ 595 ล้านบาท ค่อนข้างมีนัยสำคัญ แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ที่มีสัดส่วนราว 3,000-3,500 ล้านบาทต่อวัน สะท้อนตลาดมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นมาพอสมควร