DESCAP 1 เปิดขายพ.ย.นี้ ลุยซื้อโรงแรมพัทยา-ภูเก็ต ปั้นผลตอบแทน 15% ต่อปี

HoonSmart.com>> บล.เคทีบี เดินสายโรดโชว์ “กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน” ลุยช้อปโรงแรมในไทยถูกพิษโควิด-19 ราคาส่วนลด 30% ประเดิมพัทยา-ภูเก็ต มองจังหวะลงทุนสร้างผลตอบแทนสูง ผันผวนต่ำ ตั้งเป้าผลตอบแทน 15% ต่อปี หนุนธุรกิจโรงแรมกลับมาเปิดบริการ กระตุ้นจ้างงาน ด้าน “กลุ่มเดซติเนชั่น แคปปิตอล” ผู้บริหารทรัพย์สินประสบการณ์กว่า 24 ปีมั่นใจท่องเที่ยวไทยฟื้น ผ่านหลายวิกฤต โชว์ผลงานที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนได้สูง เตรียมเปิดขายหน่วยลงทุนเดือนพ.ย.นี้ ระดมทุน 2.5 พันล้านบาท

นายเจมส์ แคปแลน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท เดซติเนชั่น กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการโรงแรม ผ่านกองทุนธุรกิจร่วมลงทุนต่างๆ เช่น Private Equity กองทรัสต์ นำมาพัฒนาศักยภาพ ปรับปรุงฟื้นฟู และบริหารโรงแรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ไปจนถึงการขายโรงแรม มาตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

“เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST SEC ในฐานะผู้ก่อตั้งทรัสต์และผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน (DESCAP 1 Private Equity Trust) และมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) ในฐานะทรัสตี โดยจะมองหาสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างผลตอบแทนได้สูงหลังจากปรับปรุงและปรับตำแหน่งทางการตลาดให้เหมาะสมตามกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ การเลือกสินทรัพย์นั้น บริษัทจะเลือกโรงแรมและรีสอร์ทขนาดระหว่าง 150 – 250 ห้อง ในทำเลชั้นดี ที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองใหญ่และจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยตั้งเป้าหมายทยอยซื้อโรงแรมเข้าพอร์ตจำนวนไม่เกิน 8 แห่ง ภายในอีก 18 เดือนข้างหน้า”นายเจมส์ กล่าว

นายฐิติพัฒน์ ทวีสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Corporate Finance Solutions & REIT บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน เตรียมระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่จำนวนไม่เกิน 10 รายเงินลงทุนขั้นต่ำ 200 ล้านบาท ในกรณีที่เงินลงทุนต่ำกว่าขั้นตอน ผู้ลงทุนรายใหญ่สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนในช่วงเดือนพ.ย.2563 เป้าหมายในการระดมทุน 2,500 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุนประมาณ 5 ปี และสามารถขยายระยะเวลาการลงทุนได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดกับผู้ถือหน่วยลงทุนในอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ 15% ต่อปี

“กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน จะต่างจากกองทรัสต์ทั่วไป โดยจะไม่ได้นำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการลงทุนระยะยาวเมื่อครบอายุ 5 ปี คืนเงินต้นแก่ผู้ลงทุน ส่วนผลตอบแทนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แต่ในช่วง 1-2 ปีแรกอาจยังไม่ได้จ่ายมากนัก โรงแรมอยู่ระหว่างฟื้นตัว เป้าหมายหลักของการลงทุนอยู่ที่ผลตอบแทนที่ได้จากกำไรจากการขายโรงแรมเมื่อครบอายุโครงการมากกว่า”นายฐิติพัฒน์ กล่าว

จุดเด่นของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน คือ การเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์โรงแรม ที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ในราคาที่ต่ำ โดยตั้งเป้าเข้าซื้อในอัตราไม่ต่ำกว่า 30% ของมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ในภาวะปกติ เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ด้วยกลยุทธ์และประสบการณ์ของ บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี ซึ่งเป็นผู้บริหารสินทรัพย์ ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วด้วยวิธีการปรับปรุงสินทรัพย์และเปลี่ยนภาพลักษณ์ทางการตลาด ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ และมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สมเหตุผลและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย

“เราเริ่มเดินสายโรดโชว์นำเสนอข้อมูลกองทรัสต์ DESCAP 1 ให้แก่นักลงทุน ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี จึงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกองทุน DESCAP 2 และ 3 ในอนาคต มูลค่าระดมทุนระดับประมาณ 2,500 ล้านบาทเช่นเดียวกับกองแรก”นายฐิติพัฒน์ กล่าว

กองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน มีความโดดเด่นด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน ส่วนแรก คือ กลยุทธ์การลงทุน ที่มุ่งเน้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ติดชายหาดหรือแนวใกล้ชายหาด เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย สำหรับกรุงเทพฯ มุ่งเน้นไปที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ มุ่งเน้นการซื้อกิจการโรงแรม ระดับ 4-6 ดาว จำนวนไม่เกิน 8 โรง มูลค่าการเข้าซื้อต่อโรงแรมประมาณ 600 – 1,500 ล้านบาท และมีจำนวนห้องพักประมาณ 150 – 250 ห้อง ที่ผ่านอนุมัติจากคณะกรรมการลงทุนของกองทรัสต์

ส่วนที่ 2 คือ กลยุทธ์การสร้างมูลค่า โดยสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนจะมีความผันผวนที่ต่ำ และบริหารด้วยกลยุทธ์ 5R ได้แก่ การปรับปรุงสินทรัพย์ (Renovate) การสร้างใหม่ (Rebuild) การเปลี่ยนตำแหน่งในการทำตลาด (Reposition) รีแบรนด์ (Rebrand) และ การเพิ่มทุน (Recapitalize) ไปจนถึงการขายสินทรัพย์ (Exit )

ส่วนที่ 3 คือ กลยุทธ์การขาย ได้แก่ เสนอขายผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นการ Exit ตัวผ่านตลาดหลักทรัพย์ การควบรวมและการซื้อกิจการ คือ ขายหุ้นให้แก่บริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือผู้ซื้อที่มีศักยภายและความเชี่ยวชาญ การขาย คือ ขายหุ้นหรือสินทรัพย์ให้นักลงทุน กองทุน หรือทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน การซื้อคืน คือ เจ้าของกิจการซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์เอง การเปลี่ยนเป็นเงินสด คือ ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อที่มีศักยภาพ

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี ในฐานะผู้บริหารทรัพย์สิน กล่าวเพิ่มว่า แนวทางของบริษัทก่อนที่จะเสนอให้กองทรัสต์พิจารณาเข้าลงทุนในกิจการโรงแรม บริษัทฯ จะตรวจสอบในด้านกฎหมายอย่างละเอียด มีการตรวจสอบชื่อที่อยู่ ที่ตั้ง พื้นที่เขตอาคารสินทรัพย์อย่างละเอียด รวมถึงการตรวจสอบด้านวิศวกรรมที่มีการต่อเติม ขณะเดียวกันบริษัทจะทำการศึกษาด้านการตลาดเพื่อทำการตลาดใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุด ซึ่งอาจรวมถึงการเลือกแบรนด์ของโรงแรมการปรับเปลี่ยนร้านอาหารและสปา และการปรับปรุงห้องพัก

นอกจากนี้ บริษัทมีการบริหารสินทรัพย์โรงแรมด้วยปรัชญา การบริหารเชิงรุก ด้วยความร่วมมือจากทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์ เรื่องการบริหาร “ความเสี่ยง” ด้วยการจัดทำประกันภัย เช่น การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ การคุ้มครองในกรณีที่ต้องหยุดดำเนินธุรกิจอย่างกระทันหัน และการคุ้มครองอัคคีภัย / การโจรกรรม พร้อมกับการตรวจสอบและจัดการควบคู่กับการรักษาใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่าง ๆ และการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับในท้องถิ่นนั้น

ทั้งนี้ บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี มีทีมงานที่มีประสบการณ์สูงในระดับภูมิภาคตลอด 24 ปีที่ผ่านมา และมีผลงานโดดเด่นจากการเข้าซื้อกิจการโรงแรม โดยการปรับปรุงรูปลักษณ์ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งทำการตลาดของธุรกิจโรงแรม การจัดหาเงินทุน และการบริการจัดการสินทรัพย์ เห็นได้จากผลงานที่บริหารในช่วงที่ผ่านมา


ปี 2543 บริษัทได้เข้าซื้อโรงแรมระดับ 4 ดาวที่ให้บริการเต็มรูปแบบจำนวน 297 ห้อง ชื่อแบรนด์ Melia Hotel มาบริหาร หลังวิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 บริษัทได้ปรับปรุงและทำการเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ให้เปลี่ยนโรงแรมระดับ 5 ดาว ภายใต้ชื่อแบรนด์ โรงแรมฮิลตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์สปา และบริหารจนมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) ที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มบริการสปา และการบริหารสินทรัพย์ในเชิงรุก และบริษัทได้ขายสินทรัพย์ออกไปในปี 2557 สร้างได้กำไรได้มากมาย

นอกจากนี้ในปี 2547 เข้าซื้อกิจการโรงแรม โฟร์ พอยต์ บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท 15 หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง ที่มีการประท้วงเสื้อแดงและเสื้อเหลืองซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ บริษัทได้ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างจริงจัง และมีการเพิ่มร้านค้าอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลทำให้มีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และบริษัทได้ขายกิจการในปี 2562 สร้างกำไรได้มาก รวมถึงการเข้าซื้อกิจการโรงแรมแห่งหนึ่งในปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิภูเก็ตและเปลี่ยนชื่อเป็นไฮแอท รีเจนซี่ ภูเก็ต รีสอร์ต เป็นต้น

“การท่องเที่ยวไทยผ่านมาหลายวิกฤต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ไทยจะกลับมาได้ทุกครั้ง ซึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง จึงมั่นใจว่าในครั้งนี้จะฟื้นตัวได้เช่นกัน จึงมองเป็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจโรงแรม”นายเจมส์ กล่าว

นายฐิติพัฒน์ กล่าวเพิ่มว่า ภาวะปัจจุบันที่กำลังเกิดการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวของไทย จึงเป็นจังหวะในการลงทุนที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “โอกาสครั้งเดียวในชีวิต” ที่จะสามารถเข้าลงทุนในโรงแรมและรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของโลกในแบบนี้ เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงให้กับผู้ลงทุนได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจโรงแรมกลับมาดำเนินการ ช่วยกระตุ้นการจ้างงาน

อ่านข่าว

“เดซติเนชั่น แคปปิตอล” ผนึกบล.เคทีบี-MFC ตั้งกองทรัสต์ลุยซื้อโรงแรมในไทย