ดอกเบี้ยหุ้นกู้ “ชั้นดี” ขึ้นไม่มาก

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยฯ ชี้นักลงทุนยังนิยมซื้อตราสารหนี้ “คุณภาพสูง” ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไม่มาก ครึ่งปีหลังออกเงินกู้ระยะยาว 3.27-3.7 แสนล้านบาท

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชนเกรด A-ถึงเกรดA+ เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีเกรด BBB- ถึงBBB+ ซึ่งสะท้อนได้ว่าหุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพสูงยังได้รับความนิยมอย่างมาก ในขณะที่สภาพคล่องในตลาดมีอยู่สูง

“สภาพคล่องในระบบที่มีอยู่สูง ทำให้หุ้นกู้เอกชนคุณภาพสูงได้รับความนิยมอย่างมาก”น.ส.อริยาระบุ

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชนระยะ 10 ปีเกรด AA ณ วันที่ 10 ก.ค.อยู่ที่ 3.66% จากต้นปีที่อยู่ที่ 3.53% ในขณะที่ดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชนระยะ 10 ปีเกรด BBB ณ วันที่ 10 ก.ค.อยู่ที่ 5.75% จากต้นปีที่อยู่ที่ 5.50%

น.ส.อริยา กล่าวว่า มีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลกลับประเทศไทย เพราะปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยพร้อมอยู่แล้ว แต่คงต้องรอให้ประเด็นสงครามการค้าเคลียร์ก่อน คือ ต้องสามารถประเมินผลกระทบที่แท้จริงได้ว่าอยู่ในกรอบจำกัดหรือไม่ รวมทั้งสหรัฐต้องเปลี่ยนนโยบายและยุติการกีดกันสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าเพิ่มอีก ดังนั้น เงินต่างชาติที่ไหลเข้าและออกในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะสั้นที่เข้าเร็วออกเร็ว

“ในภูมิภาคนี้ ถ้าเงินต่างชาติจะกลับมา ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าจะไหลกลับมาที่ไหน ซึ่งก็คือไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว”น.ส.อริยากล่าว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 2 ปี จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆและใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ThaiBMA คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ที่ 1.5% เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ระดับต่ำ ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี แม้จะเป็นช่วงขาขึ้น แต่จะขึ้นในกรอบที่จำกัด

ขณะที่ประเด็นเงินทุนไหลออกจะไม่มีผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.93 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่หนี้สินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเมื่อสงครามการค้าโลกยุติโดยที่ทุกฝ่ายเคลียร์กันได้ น่าจะได้เห็นค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้

“ปีนี้ไทยไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ ส่วนเงินที่ไหลออกขณะนี้คงไม่ใช่ประเด็นที่นำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ย แต่ปีหน้าเมื่อมีการเลือกตั้ง ภาครัฐลงทุน เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัว เราก็จะได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลผันผวน คือ บางช่วงขึ้นลง 0.06% จากปกติที่เคลื่อนไหวที่ 0.01-0-02%”นายธาดากล่าว

นายธาดา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 6 ก.ค.2561 เงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) ยังคงไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมีการซื้อสุทธิ 4,948 ล้านบาท ส่งผลให้ต่างชาติมียอดลงทุนสะสมสุทธิ 8.43 แสนล้านบาท หรือ 7.17% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย และจะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติขายตราสารหนี้ระยะสั้นและเปลี่ยนไปซื้อตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

“เงินทุนต่างชาติระยะสั้นที่ไหลออกไป ไม่ส่งผลกระทบอะไร และน่าจะส่งผลดีมากกว่า เพราะทำให้แบงก์ชาติไม่ต้องมีภาระในออกพันธบัตรมาดูดสภาพคล่อง ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย”นายธาดากล่าว

ธาดา พฤฒิธาดา

นายธาดา กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2561 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้าง 12.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ที่มีมูลค่าคงค้าง 11.56 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีการออกตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.4% เนื่องจากเอกชนต้องการควบคุมต้นทุนการการเงินหลังอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่มูลค่าการออกตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น ไม่รวมการกู้ยืมในธุรกิจเดียวกัน ซึ่งได้แก่ หุ้นกู้กลุ่ม Real Sector และกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์พบว่าอยู่ที่ 5.38 แสนล้านบาท ลดลง 39% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 8.85 แสนล้านบาท เนื่องจากกลุ่ม Real Sector ลดการออกตั๋ว B/E และหันมาออกหุ้นกู้กันมากขึ้น โดย 63% เป็นหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน (Secured) เช่น ที่ดิน และทรัพย์สิน ซึ่งออกโดยกลุ่มที่ต่ำ BBB และกลุ่ม Non-rated

สำหรับยอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ที่ 3.27-3.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการออกหุ้นกู้เอกชน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ที่จะเติบโต 4.5% และการควบคุมต้นทุนหลังอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 1.1-1.2 แสนล้านบาท การ Rollover หุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดในช่วงครึ่งหลังปีนี้ 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการ Rollover ในสัดส่วน 53% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ส่วนการออกหุ้นกู้เพื่อการลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) เช่น การลงทุนโครงการ One Bangkok และการเข้าซื้อโรงแรมในต่างประเทศของ MINT เป็นต้น จะมีมูลค่าอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านถึง 1.3 แสนล้านบาท ส่งผลให้ยอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวทั้งปีอยู่ที่ 7.6-8 แสนล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งเป็นปีพิเศษที่ยอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการออกหุ้นกู้ล็อตใหญ่ของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ