เงินไหลเข้ากองทุนแสนล.-ช็อปกองหุ้นไทยบิ๊กแคปสูง 5.9 หมื่นล.

“มอร์นิ่งสตาร์” เผยครึ่งปีแรกเงินไหลเข้ากองทุนรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท ท่ามกลางหุ้นผันผวน พบเงินไหลเข้าซื้อกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ 5.9 หมื่นล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านมูลค่าสินทรัพย์กองทุนรวมทั้งระบบลดลง 1.67%

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) สรุปภาพรวมกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ท่ามกลางความผันผวนของตลาด ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนรวมทั้งระบบปรับลดลง 1.67% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่ 4.93 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2561

ในครึ่งแรกของปีนี้มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมประมาณ 111,970 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มกองทุนหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนๆ โดยมีเงินไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มกองทุนรวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large cap) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 59,076 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่ 2 ถึง 40,621 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนอาศัยจังหวะเข้าลงทุนขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง ในขณะที่กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กมีเงินไหลออกสุทธิ 948 ล้านบาท ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF) ยังโตต่อเนื่องโดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น +11.42% จากสิ้นปี 2560 มาอยู่ที่ 273,477 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดนั้นเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในไทยทั้งสิ้น


ด้านของกองทุนรวมที่มีเงินไหลออกสูงสุดยังเป็นกลุ่ม Global Bond ไหลออกสุทธิสูงถึง 57,315 ล้านบาท ซึ่งหากดูเป็นรายไตรมาสจะเห็นว่าเป็นการไหลสุทธิออกต่อเนื่องจากไตรมาสแรกไหลออก 28,841 ล้านบาท และไตรมาส 2 ไหลออก 28,473 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่ม Foreign Investment Bond Fixed Term และ Money Market ที่มีเงินไหลออกสุทธิ 33,892 ล้านบาท, และ 18,534 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่รวม Term Fund มีเงินไหลออกสุทธิ 14,284 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกภายในไตรมาสที่ 2 จำนวน 43,360 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลออกจากกลุ่ม Global Bond ถึง 28,473 ล้านบาท ส่งผลให้โดยรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้อยู่ที่ 622,033 ล้านบาท ลดลง 4.66% เทียบจากสิ้นปี 2560

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสภาพตลาดยังไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน แต่นักลงทุนยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อกองทุนหุ้นในต่างประเทศ เห็นได้จากเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ 14,528 ล้านบาท, Global Equity ที่ 13,191 ล้านบาท, China Equity ที่ 10,373 ล้านบาท, Emerging Market Equity ที่ 9,676 ล้านบาท และ ASEAN Equity ที่ 5,749 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่ม China Equity ถึงแม้จะกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ตาม แต่กลุ่มกองทุนหุ้นจีนกลับมีเงินไหลเข้ามากที่สุดในไตรมาส 2 ถึง 2,834 ล้านบาท (3 เดือน -3.62%, 6 เดือน -3.93%) รวมถึงกองทุนหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากมีเงินไหลเข้าเป็นอันดับสองถึง 1,950 ล้านบาท (3 เดือน -8.32%, 6 เดือน -8.40%) ในขณะที่หุ้น US Equity มีเงินไหลเข้าเล็กน้อย 567 ล้านบาท (3 เดือน +5.74%, 6 เดือน +3.18%)

ในส่วนของกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุด ได้แก่ Global Bond จำนวน 57,315 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้เหลือเพียง 126,879 ล้านบาท จากที่เคยสูงสุดในช่วงสิ้นปีที่เกือบ 190,000 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Global Health Care ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิ 10,459 ล้านบาท และ และ Global Allocation 5,543 ล้านบาทโดย Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศ มีดังนี้ Global Allocation ที่ 24.33%, Global Bond ที่ 20.40%, Global Equity ที่ 9.26%, Global Health Care ที่ 6.26% และ China Equity ที่ 5.94%


ด้านผลตอบแทนกองทุนรวมในครึ่งปีแรก กองทุนประเภท Commodities Energy ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดย 6 เดือน +21.81%, และในช่วง 1 ปี +48.62%, ตามด้วย Global Health Care และ US Equity 6 เดือน +3.71%, +3.18% ตามลำดับ

ในส่วนกลุ่มกองทุนหุ้นไทยผลตอบแทนค่อนข้างน่าผิดหวัง นำโดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน -12.71%, 3 เดือน -10.09% ส่วนกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ 6 เดือน -8.41%, 3 เดือน -9.05% สอดคล้องกับดัชนีหุ้นไทย SET TR ที่มีผลตอบแทน 6 เดือน -7.33%, 3 เดือน -9.25% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยทิ้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยแรงเทขายนั้นเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

ส่วนกองทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศเกือบทุกตลาดทำผลตอบแทนติดลบทั้งสิ้น โดย ASEAN Equity -9.32%, Emerging Market Equity -8.40%, India Equity ที่ -7.96%, Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ -6.57%, China Equity ที่ -3.93%, Japan Equity ที่ -3.35% และ Europe Equity ที่ -0.45% มีเพียงตลาดหุ้นในสหรัฐฯเท่านั้นที่ยังมีผลตอบแทนเป็นบวก

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นทั้งตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่ม Short Term Bond , Money Market และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond นั้นล้วนแต่ทำผลตอบแทนเป็นบวกเล็กน้อย โดยที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 0.49%, 0.43%, และ 0.37% ตามลำดับ

ด้านกองทุน LTF ในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินไหลออกสุทธิ 4,881 ล้านบาท โดยเงินไหลออกในไตรมาสแรกสูงถึง 13,712 ล้านบาท และเป็นเงินไหลเข้าในช่วงไตรมาสสองสูงถึง 8,831 ล้านบาท นับว่าเป็นเงินไหลเข้าสูงสุดตลอดกาลเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ของปีอื่น ๆ ทั้งนี้น่าจะเกิดจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่มีการปรับตัวลดลงของ SET TR -9.25% ทำให้นักลงทุนใช้โอกาสนี้ทยอยลงทุนในกลุ่มกองทุนประหยัดภาษี ทั้งยังมีการออกกองเพิ่มอีก 3 กอง ในช่วงไตรมาสสองนี้อีกด้วย โดยผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน LTF สำหรับกองทุนหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ย -8.38% และกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กเฉลี่ยที่ -12.62%

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงเข้าซื้อกองทุน LTF สูงในไตรมาสที่ 2 แต่มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกองทุน LTF มีมูลค่าลดลง ณ สิ้นเดือนมิ.ย.ที่ 356,975 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ถึง -6.47% หรือ -10.12% จากสิ้นปี 2560

สำหรับกองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5,711 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าในกลุ่ม RMF Equity สูงสุดถึง 7,447 ล้านบาท, RMF Allocation 1,015 ล้านบาท และเป็นเงินไหลออกสุทธิในกลุ่ม RMF Other และ RMF Fixed Income -282 ล้านบาท, -2,469 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในครึ่งปีแรกนี้นั้นมีกอง RMF เปิดใหม่ถึง 4 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สิน 1,717 ล้านบาท)
ทั้งนี้กองทุนกลุ่ม RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดที่ 246,510 ล้านบาท ลดลง -3.18% จากสิ้นปี 2560 โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในกลุ่มกองทุนหุ้นสูงถึง 47.14%, ตราสารหนี้ 29.72%, กองผสม 19.90% และ อื่นๆ 3.24%