โบรกฯ มองต่างมุม SCB “เคจีไอ” ปรับเพิ่มกำไร-ราคาเป้าหมาย

นักวิเคราะห์ 7 ค่ายมองต่างมุมหุ้น SCB หลังพบผู้บริหาร “บล.เคจีไอ” ปรับเพิ่มประมาณกำไรและราคาเป้าหมาย 152 บาท “CNS” แนะซื้อ ด้าน “บล.เคทีบี” หั่นกำไรปีนี้ลง 4% ยังแนะนำ “ถือ” ส่วน “ฟินันเซีย ไซรัส” คาดแบงก์จ่ายปันผลระหว่างกาล 1.50 บาทต่อหุ้น

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2561 ที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้พบนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่ยังมีมุมมองเป็นบวกกับ SCB “บล.โนมูระ พัฒนสิน-เคจีไอ” เชียร์ ซื้อ ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส-ฟินันเซีย ไซรัส-เอเชียเวลท์” แนะถือ ส่วน “แอพเพิลเวลธ์” แนะรอจังหวะซื้อ ขณะที่บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าลง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า SCB กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะนำ digital banking platform มาใช้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบในระยะส้ันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ในขณะที่การประหยัดต้นทุนในระยะยาวยังถือเป็นความท้าทายตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ธนาคารสามารถบริหารรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงได้ดีเกินคาด จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไร ปี2561/62 ขึ้นอีก 2% และและปรับเพิ่มเป้าหมาย 4% เป็น 152 บาท จึงปรับเพิ่มคำแนะนำ “ซื้อ”

ทั้งนี้ ถึงแม้กำไรสุทธิในครึ่งปีแรกของปี 2561 จะคิดเป็น 56% ขิงประมาณการทั้งปีของฝ่ายวิยจัยบล.เคจีไอ โดยเหตุผลที่ปรับเพิ่มประมาณการ เนื่องจากคาดว่าต้นทุนการดำเนินงานจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังของปีโดยประมาณการของฝ่ายวิจัยได้สะท้อนถึงการปรับสมมติฐานอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม

ในขณะที่ยังคงสมมติฐานอัตราการเติบโตของสินเชื่อปี 2561/62 ไว้ที่ 8% และ 8% NIM ที่ 3.2% และ 3.3% สัดส่วนต้นทุน/รายได้ที่ 49% และ 50%

บล.โนมูระ พัฒนสิน (CNS) มีมุมมองเป็นบวก แนะนำ “ซื้อ” SCB จากแนวโน้มในระยะยาวที่คาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะเพิ่มในอัตราชะลอตัวลงหลังจบ SCB transformation ในปี 2562 ประกอบกับในด้านโอกาสในการหารายได้เพิ่มเติม โดยธนาคารคาด cost to income ratio จะกลับมาอยู่ที่ระดับ 30% ต้นได้ในปี 2564 แต่ในระยะสั้นคาด OPEX ยังเพิ่มในอัตราเร่ง ซึ่งคาด cost to income ratio จะถึงจุดสูงสุดในครึ่งปีหลังของปี 2561

ด้านการตั้งสำรองธนาคารคาดว่าในปี 2561 จะตั้งในระดับปกติคือปีละ 2 หมื่นล้านบาท เพราะ coverage ratio ที่เพิ่มมาสู่ 143% ถือเป็นระดับที่พอใจ อย่างไรก็ตามจาก new NPL formation ของสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในอนาคต จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2562 ที่ 156 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” ราคาพื้นฐาน 138 บาท เทียบราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีที่ 1.2 เท่า โดยมองว่า SCB มีแผนธุรกิจและเป้าหมายชัดเจน แต่ปี 2561-2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมชะลอตัวและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิจะเติบโตจำกัด ประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 หดตัว 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยจับตา คือคุณภาพสินทรัพย์ ส่วนปัจจัยที่เป็น Upside risks คือ รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ดีกว่าคาดและค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่ำกว่าคาด

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส คงประมาณการกำไรปี 2561 ที่ 4.12 หมื่นล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้มีทิศทางชะลอตัวลงจากค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและการเร่งตัวการลงทุน transformation รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาด จึงคงราคาเหมาะสมปี 2561 ที่ 142 บาท อิงราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.25 เท่า ปรับลดคำแนะนำเป็น “ถือ” จาก “ซื้อ” เนื่องจากอัพไซด์ที่แคบลงและคาดว่า SCB จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.50 บาทต่อหุ้น

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นลบต่อผลดำเนินงาน SCB ในปี 2561 ที่จะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการลงทุนเรื่องของ Transformation และมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้นจากการเร่งให้คนมาใช้ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริหารได้มีการปรับเป้า cost to income ratio เพิ่มขึ้นเป็น 45-47% จากเดิมที่ 42-45% ทำให้บล.เคทีบี ปรับประมาณการกำไรสุทธิใน 2561/2562 ลง 4% และ 1% โดยยังคงแนะนำ “ถือ” แต่ปรับมูลค่าเหมาะสมลงมาอยู่ที่ 139 บาท อิง PBV ที่ 1.22 เท่า เทียบเท่า -1.25SD ย้อนหลัง 5 ปี จากเดิมที่ 148 บาท เนื่องจากกำไรสุทธิในปี 2561 จะหดตัวลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นตัวกดดันให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้

บล.แอพเพิลเวลธ์ คงคาดการ์กำไรสุทธิปี 2561 ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้กำไรไตรมาส 2/2561 ออกมาดีกว่าคาดประมาณ 1 พันล้านบาท โดยคาดว่ายอกจากผลกระทบประเด็นฟรีค่าธรรมเนียมแล้ว การลงทุนและค่าใช้จ่ายการตลาดสำหรับ Digital transformation และ provision จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้กำไรครึ่งหลังของปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างจำกัด จึงปรับลดมูลค่าพื้นฐานลงจาก 145.50 บาทลงที่ 141 บาท อิงราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.25 เท่า

ฝ่ายวิจัย แนะนำให้ “รอทยอยซื้อ” ในจังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงจนมีอัพไซด์เพิ่มขึ้น โดยมองว่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน 2 ปีนี้จะค่อยๆ เห็นผลบวกในระยะยาวต่อไป

บล.เอเชียเวลท์ คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐาน cost to income ratio ปี 2561 ที่ 47% สูงกว่าปี 2560 ที่ 42.3% คาดตัวเลขดังกล่าวจะแตะระดับสูงสุดในปีนี้กดดันค่าใช้จ่ายการลงทุนโดยตรงและค่าเสื่อมราคา คงประมาณการเติบโตสินเชื่อเช่นกันที่ 7% เทียบกับเป้าของ SCB ที่ 6-8%

นอกจากนี้แม้การตั้งสำรองจะต่ำกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรก แต่คงสมตติฐานสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ยอบ่างระมัดระวังที่ 120 bps เนื่องจากความกังวลประเด็นกฎระเบียบใหม่ หรือ IFRS9 จึงคงคำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 135 บาท แม้แผน transformation จะส่งผลดีและเสริมศักยภาพของธนาคารในระยะยาว แต่คาดว่าการลงทุนในระดับสูงยังเป็น Overhang ต่อไปอย่างน้อยในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ราคาหุ้น SCB ณ เวลา 15.11 น. อยู่ที่ 131.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ -0.38% มูลค่าการซื้อขาย 592.52 ล้านบาท