“ภัทธีรา” เสนอศึกษา “Circuit Breaker หุ้นรายตัว” สกัดราคาขึ้น-ลงผิดปกติ

“ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ”
เสนอศึกษาใช้ “Circuit Breaker หุ้นรายตัว”
สกัดราคาขึ้น-ลงแรงผิดปกติ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ราคาหุ้นหลายตัวถูกทุบร่วง “ติดฟลอร์” ในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะมีสาเหตุจากการนำเครื่องมือใหม่ๆมาใช้มากขึ้น เช่น โปรแกรมเทรดดิ้ง ในขณะที่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เช่น บล็อกเทรด และ DW ซึ่งมีผลในการชี้นำราคาหุ้น ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

“ตลาดเรามีความลึกและกว้าง เช่น เราทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเทรด DW และฟิวเจอร์ (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ออกมามากขึ้น มีพัฒนาการในด้านเครื่องมือ รวมถึงโปรแกรมต่างๆ ซึ่งตลาดที่กว้างและลึกเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้มีนักลงทุนหลายประเภทในตลาดหุ้นไทย และไม่ได้เทรดหุ้นกันตามเนื้อผ้าอย่างที่เราคุ้นเคยกัน” ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และรองประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวกับ “hoonsmart.com”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการใช้เครื่องมือใหม่ๆเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้เกิดความไม่พอดีทางใดทางหนึ่งขึ้นเสมอ ก่อนตลาดจะกลับเข้าสู่สมดุลที่พอดี

“ตอนนี้ตลาดมีหลายเรื่องเข้ามา เช่น DW ที่ออกมาเยอะมาก ซึ่งในบางช่วงเราจะเห็น DW ออกมาในปริมาณที่สูงมาก ทำให้นักลงทุนบางรายเสียเปรียบ รวมทั้งเกิดความเสียเปรียบระหว่างมูลค่าของหุ้น Underwriter และ DW ส่วนบล็อกเทรด ได้ทำให้กำลังในการซื้อหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งในอดีตเราเคยกลัวว่าเวลามาร์จิ้นโลนเยอะๆแล้วโดนฟอร์ซเซลล์ (บังคับขาย) จะเกิดอะไรต่อตลาดหรือไม่ แต่มาร์จิ้นโลนมันคือ 1 เท่า ส่วนบล็อกเทรดมันคือหลายเท่า” ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ

ภัทธีรา กล่าวว่า เวลานี้บล็อกเทรดเริ่มโต มีดีมานด์มากขึ้น มีผู้ให้บริการมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงในแง่แรงส่งในการขายเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่มีการออกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบน single stock (หุ้นรายตัว) จะต้องมีหุ้น และทุกครั้งที่มีการปิดสถานะจะต้องไปขายอีกขาหนึ่ง

“เมื่อเร็วๆนี้มีงานวิจัยออกมา ให้เราต้องเข้าไปดูว่าหุ้นตัวไหนบ้างมีสถานะคงค้างมาก จากนั้นสมาคมฯได้เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ให้นักลงทุนรู้ว่าหุ้นตัวนี้มีคนเปิดสถานะเท่าไหร่ เพื่อที่ว่าถ้าจะลงทุนหุ้นตัวนี้ต้องระวัง เพราะการขายหรือปิดสถานะมันจะกระทบต่อราคาหุ้นได้

แม้กระทั่งตัวโบรกเกอร์เอง เวลาออก (บล็อกเทรด) เยอะแล้วไม่ควรออกเพิ่มอีก เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อระบบ เช่น หุ้นตัวนี้มีคนอื่นออกมากแล้ว มันต้องมีควบคุม อย่างการออกมาร์จิ้นทุกวันนี้ ถ้าหุ้นตัวไหนมีการให้มาร์จิ้นเยอะแล้ว โบรกเกอร์จะหยุด หรือเรียกหลักประกันเพิ่ม เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยง อันนี้เป็นบทเรียนที่ทุกคนต้องเรียนรู้”ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา ระบุว่า แม้ว่าปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยข้อมูลสถานะโดยรวมของบล็อกเทรดในช่วงสิ้นวันแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้นักลงทุนหาข้อมูลได้ง่าย ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมฯได้หารือกับ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาว่าข้อมูลที่เปิดเผยนั้นเพียงพอหรือไม่

“เรื่องบล็อกเทรดต้องไปดูว่าการเปิดเผยข้อมูลว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้ขอให้เปิดข้อมูลว่า โบรกฯใดมีเยอะ โบรกฯใดมีน้อย คนใดมีเยอะ คนใดมีน้อย เพียงแต่อยากให้รู้ว่าสถานะโดยรวมมีเยอะแล้ว ซึ่งเราได้หารือกับดร.ภากร ตั้งแต่ปีที่แล้ว และตลาดก็ทำ โดยได้เปิดเผยเท่าที่เห็นเหมาะสม แต่ควรทำให้ดูง่ายและชัดเจนมากขึ้น เช่น มีการจัดอันดับ 10 บล็อกเทรดที่มีการเปิดสถานะมากที่สุด เป็นต้น”
ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา ยังระบุว่า “ทุกคนกำลังจับตามองบล็อกเทรดและทำให้มันปลอดภัย ดังนั้น อย่าไปคิดว่าบล็อกเทรดมีแต่ด้านร้าย เพราะเป็นตัว Hedging (ป้องกันความเสี่ยง) ในเรื่องการลงทุน มันมีทั้งข้อดีและเสีย แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์มันก็มีข้อเสีย

ส่วนเรื่องโปรแกรมเทรดดิ้ง ภัทธีรา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามันเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็มีความระมัดระวังในเรื่องนี้อย่างมาก โดยโปรแกรมเทรดดิ้งทุกโปรแกรมที่จะนำมาใช้ได้นั้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเทรดดิ้งในประเทศหรือต่างประเทศ แต่การซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งมีบางอย่างที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่

“ยังมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น คือ ถ้าหุ้นอยู่ในมือนักลงทุนรายย่อยในประเทศ อันนี้พูดง่าย เพราะหุ้นอยู่ที่โบรกเกอร์ การซื้อขายก็เป็นไปตามธรรมชาติ แต่พอเป็นหุ้นที่อยู่ในมือนักลงทุนในต่างประเทศ เราจะมองไม่เห็นตัวหุ้น เพราะหุ้นที่อยู่ในต่างประเทศ เราจะไม่มีสถานะที่รู้ได้ จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ชัดเจน และโปร่งใสมากขึ้น” ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา เสนอว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ปัญหาในประเด็นนี้ คือ มีหุ้นหรือไม่มีหุ้น ดังนั้น โบรกเกอร์จะต้องรับผิดชอบว่า คนที่เอาโปรแกรมมาเทรดในตลาดหุ้นไทยจะต้องมีหุ้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องเทรด เพื่อแก้ปัญหาการเทรดหุ้นโดยไม่มีหุ้น (Naked Short)

“เราไม่รู้ว่าเขา (นักลงทุนในต่างประเทศ) มีหุ้นหรือไม่มี เพราะเราไม่รู้ ถ้าจะทำให้รู้ ก็ต้องระบุ requirement (ความต้องการ) ว่า ถ้าจะเทรดหุ้นในประเทศไทยต้องมีหุ้น นี่เป็นไอเดียของพี่เอง ซึ่งตลาดต้องไปดู ถ้ารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนก็ต้องไปปิดที่ปัญหา ต้องไปดูกฎระเบียบอีกที ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ฯก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบลูกค้าตัวเอง เช่น ถ้าเป็นลูกค้าในต่างประเทศก็ต้องดูว่ามีหุ้นหรือไม่ เมื่อเขาเทรด เราก็ต้องขอดูว่ารายการนี้มีหุ้นหรือไม่ ซึ่งอันนี้ทำได้” ภัทธีราระบุ

ส่วนเรื่องความเร็วในการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งซื้อขายหุ้นที่อาจเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมนั้น ภัทธีรา มองว่า ไม่ได้เป็นการปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อหุ้นไม่ได้ เพราะสุดท้ายออเดอร์ที่ส่งไปจะวิ่งไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วรอคิวเข้าตลาด ขณะที่โปรแกรมเทรดดิ้งก็ไม่ได้ยิงคำสั่งซื้อขายตลอดเวลา ส่วนการจะได้หุ้นหรือไม่ได้หุ้นนั้น เป็นการสุ่มตามธรรมชาติและเป็นไปตามจังหวะในแต่ละเสี้ยววินาทีนั้นๆ

“ทุกคนส่งออเดอร์ไปสุดท้ายก็วิ่งไปที่ตลาด แล้วก็ต้องเข้าคิว ซึ่งออเดอร์มันมาจากทั่วสารทิศ ไม่ได้มาจากโบรกเกอร์เดียว ส่วนจะได้หุ้นหรือไม่ได้หุ้น ก็ขึ้นอยู่กับการสุ่มตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้ทำให้ใครไม่มีโอกาสได้หุ้น ขณะที่บางคนไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง เช่น คนจะซื้อหุ้นปตท.ราคานี้ ถ้าเป็นราคาที่พอใจก็ส่งราคาเข้าไป ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ได้ราคาที่เขาอยากจะได้ และโปรแกรมเทรดดิ้งก็ไม่ได้ยิงตลอดเวลา” ภัทธีราระบุ

อย่างไรก็ตาม ภัทธีรา ระบุว่า การนำโปรแกรมเทรดดิ้งมาใช้ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ เมื่อมีการนำโปรแกรมมาใช้มากขึ้น ทำให้ลักษณะการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องพิจารณาว่าออเดอร์ประเภทไหนที่จะกระทบตลาดอย่างมีนัยยะ และทำอย่างไรให้มีความยืดหยุ่น

“ยกตัวอย่าง มีหุ้นตัวหนึ่งราคาพื้นฐานอยู่ที่ 10 บาท แต่พอเจอเครื่องมือต่างๆราคาตกไปอยู่ที่ 6 บาท ถามว่ามันแฟร์กับหุ้นหรือไม่ เพราะหุ้นไม่ได้แย่ขนาดนั้น และด้วยกลไกอย่างนี้มันทำให้หุ้นกู่ไม่กลับ ต้องใช้เวลานานมากกว่าหุ้นจะกลับมาที่ 8 บาท 10 บาท ต้องถามว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่”

ราคาหุ้น BEAUTY ร่วงติดฟลอร์วันที่ 9 ก.ค.2561

ภัทธีรา เสนอว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯและผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยดูแลปัญหาลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดฯควรพิจารณาว่าจะมีกระบวนการอะไรที่ไม่ปล่อยให้ราคาตกเร็วและแรงเกินไป

“จะทำอย่างไรที่ไม่ปล่อยให้ราคาหุ้นตกเร็วและแรงเกินไป ควรปล่อยให้มีเวลาคิด มีสติตั้งรับ ซึ่งในต่างประเทศเขามีกระบวนการว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆปล่อยให้หุ้นลงไป 30% บางที่พอลงถึง 10% เขาจะหยุดให้ฉุกคิดก่อนว่าใช่หรือไม่ใช่ อันนี้เป็นคอนเซ็ปหนึ่งที่เป็นไปได้ เพื่อไม่ให้หุ้นลงแรงเกินความจำเป็น เป็น Circuit Breaker ระดับหุ้น ไม่ใช่ระดับตลาด อย่างในต่างประเทศเวลาหุ้นลงมา เขาจะให้หยุดคิด 5 นาที ดังนั้น เราควรเอามาศึกษาดูว่ามันช่วยได้หรือไม่” ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา ยอมรับว่า ข้อเสนอเรื่องการนำ Circuit Breaker ระดับหุ้น มาใช้นั้น นักลงทุนบางส่วนอาจไม่ชอบ เช่น นักลงทุนบางคนจะบอกว่าเขาต้องรีบออก ต้องรีบขาย และนักลงทุนในอดีตก็ไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ เพราะทำให้การซื้อขายไม่สะดวก ไม่สนุก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องความพอดีของการดูแล และเป็นเรื่องของเหรียญสองด้านที่ต้องมาดูให้เกิดความพอดี

“เรื่องโปรแกรมเป็นวิวัฒนาการที่เราฝืนไม่ได้ เป็นทั่วโลก เพียงแต่เราต้องควบคุมดูแลให้อยู่ในกรอบ อย่างเรื่อง Circuit Breaker ระดับหุ้น ถ้าลงมาเร็วและแรงเกินไปต้องมีการให้หยุดให้คิด เฉพาะตัวที่ลงแรงผิดปกติ ซึ่งในอดีตเราเคยมีความพยายามจะนำมาใช้ แต่ตอนนั้นเรายังมีโปรแกรมไม่เยอะ เรายังไม่มีสินค้ามากหมายขนาดนี้ นักลงทุนก็ไม่เห็นด้วย เพราะเดี๋ยวซื้อขายไม่สะดวก ไม่สนุก ไม่มันส์ แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องมาดูเรื่องนี้กัน” ภัทธีรากล่าว

ภัทธีรา ยังให้ความเห็นกรณีการฟอร์ซเซล (บังคับขาย) หุ้นหรือบล็อกเทรด ว่า การบังคับขายจะต้องทำแบบไม่ให้เจ็บช้ำ ไม่ให้เสียราคาที่ควรจะเป็น แต่ต้องยอมรับว่ามีบางเจ้าฟอร์ซเซลไม่เป็น เช่น ฟอร์ซเซลทุกราคา ทำให้โบรกเกอร์อื่นๆที่มีมาร์จิ้นในหุ้นตัวนั้นอยู่ต้องถูกฟอร์ซเซลด้วย และทำให้เกิดแรงส่งในการขายหุ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เองตลาดหลักทรัพย์พยายามดูแลอยู่ และจะมีการออกมาตรการออกมาเรื่อยๆ

“วันนี้มีโปรดักส์มากขึ้น ทั้งบล็อกเทรด DW แรงส่งมันก็มากขึ้น จากในอดีตมีแค่มาร์จิ้น ซึ่งตลาดเขาก็ดูแลอยู่ เพียงแต่ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นเต้นจนเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก และส่วนตัวเห็นว่าพัฒนาการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว บางเรื่องที่มีนัยยะ ตลาดฯเขาก็ทำอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องเชื่อมั่นตลาดฯว่าเขาดูแล้วว่ามีนัยยะ หรือไม่มีนัยยะ”

ภัทธีรา ย้ำว่า “เราต้องปิดช่องว่างกรณีหุ้นลงแรงหรือขึ้นแรงเกินความจำเป็น เมื่อเกิดแรงซื้อหรือแรงขายในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป ที่มีตัวสนับสนุนจากเครื่องมือในปัจจุบัน รวมทั้งเมื่อมีการออก DW บล็อกเทรด และให้มาร์จิ้น ต้องพิจารณาในภาพรวมว่าควรมีมากน้อยเพียงใด และไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นแต่ละตัว ขณะที่โบรกเกอร์ต้องบริหารความเสี่ยงของตัวเองและความเสี่ยงในภาพรวม ไม่ให้มีการออกเครื่องมือเหล่านี้มากเกินไป ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนทราบ”

“นักลงทุนไทยมีความรู้ เราควรให้ข้อมูลเพื่อที่เขาจะได้ตัดสินใจได้ดีขึ้น”ภัทธีรากล่าว

อ่านประกอบ

ก.ล.ต.ออกกฎบิ๊กบจ. รายงานซื้อขาย “บล็อกเทรด-DW”