แบงก์ชาติ ชี้ทางรอดตลาดแรงงานไทย ในยุคสังคมผู้สูงอายุ

ธปท. พบคนไทยเกษียณเร็วและออกไปทำงานนอกระบบมากขึ้น หวั่นแรงงานขาดแคลนในยุคสังคมผู้สูงอายุ ฉุด GDP แนะยืดหยุ่นเวลาทำงาน-เพิ่มทักษะ

งานวิจัยเรื่อง “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” โดย สายงานนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า คนไทยจะออกจากตลาดแรงงานปีละประมาณ 3 แสนคน เริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบญี่ปุ่นซึ่งเริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55-59 ปี และเกาหลีใต้ ที่เริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 50-54 ปี

“แรงงานผู้หญิงของไทยเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มหยุดทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงของไทยที่มีทักษะไม่สูงนักหรือกลุ่มที่จบการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีถึง 5.8 ล้านคน คิดเป็น 81% ของผู้หญิงที่ออกจากตลาดแรงงานทั้งหมด โดยสาเหตุหลัก คือ การดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ทั้งเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ”

ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทยจะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึงช่วงอายุ 55-59 ปีในทุกระดับการศึกษา

นอกจากนี้ แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ภาคเกษตร ค้าขาย อาชีพอิสระ โดยในปี 2561 มีแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน หรือ 61% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงที่รายได้จะไม่มั่นคง และยังไม่มีระบบสวัสดิการ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงสิทธิการรักษาบริการทางการแพทย์น้อยกว่ากลุ่มอื่น และส่วนมากอายุระหว่าง 45 – 60 ปี

อย่างไรก็ตาม อายุไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้แรงงานลดการทำงานลงหรือออกไปทำงานนอกระบบ แต่เป็นปัจจัยด้านทักษะความรู้ระดับการศึกษา โดยประชากรที่มีความรู้หรือทักษะเพียงพอมีโอกาสจะเลือกทำงานต่อหรือทำงานในระบบมากกว่า

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในทางเศรษฐกิจมหภาคการที่แรงงานในระบบลดลงจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากแรงงานมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประมาณ 1.5%

ดังนั้น ผู้วิจัยเสนอว่า นโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายในตลาดแรงงานในสังคมสูงวัยจึงควรให้น้ำหนักกับ
การสนับสนุนการเพิ่มและการเสริมทักษะของแรงงานไทยตลอดช่วงอายุ ทั้งการเพิ่มทักษะเดิมที่แรงงานมีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Up-skill) และการเสริมทักษะใหม่ (Re-skill) เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

“ทักษะที่มากขึ้นสามารถช่วยประชากรอายุ 45-60 ปีที่ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ประมาณ 2.3 ล้านคนในภาคเกษตรกรรมและ 1.4 ล้านคนในภาคบริการและอุตสาหกรรม ให้สามารถหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายเมื่อมีอายุมากขึ้นได้”

นอกจากนี้ การขยายสิทธิประโยชน์ในการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีทักษะและยังสามารถทำงานได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปี ยังเป็นทรัพยากรที่สำคัญและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะเฉพาะด้านอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เพิ่มแรงจูงใจให้นายจ้างออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้มีงานทำโดยเฉพาะเพศหญิง ที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว เช่น ความยืดหยุ่นของช่วงเวลาทำงาน หรือลักษณะงาน ผ่านเงื่อนไขสัญญาและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงานเพื่อให้ทุกวัยสามารถใช้ร่วมกันได้ (Universal design)