วิกฤตค่าเงินตุรกียืดเยื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หวั่นลามภาคธนาคารยุโรป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินลีราของตุรกียังเสี่ยงถูกเทขายอีกหลายระลอก เชื่อผลกระทบกองทุนไทย-ภาคธนาคารไทยยังจำกัด แต่จับตาหวั่นลุกลามภาคธนาคารยุโรป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ค่าเงินลีราของตุรกีจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญแรงเทขายอีกหลายระลอก เนื่องจากทางการตุรกีมีข้อจำกัดของเครื่องมือและทรัพยากรที่จะใช้ดูแลความผันผวน ประกอบกับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของตุรกีทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

“หากระดับความเสี่ยงของวิกฤตค่าเงินตุรกีมีความรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบระลอกที่ 2 ที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการธนาคารของหลายๆ ประเทศในยุโรป อาจทำให้ขนาดความเชื่อมโยงของกองทุนรวมไทยที่ต้องติดตามจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ทั้งนี้ ภาคธนาคารของหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีความเชื่อมโยงกับตุรกีค่อนข้างสูง

“แต่หากมองในมิติของเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมไทยแล้ว จะพบว่า ยอดคงค้างของเงินลงทุนในประเทศเหล่านั้น (รวมกับตุรกี) ยังมีสัดส่วนรวมกันไม่เกิน 1.4% ของยอดคงค้างเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของกองทุนรวมไทย”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินกระทบต่อภาคธนาคารไทยว่า น่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคธนาคารในตุรกีที่ค่อนข้างน้อย

ฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวม อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไร (สะท้อนจาก ROA ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.21% ในไตรมาส 2/2561) ตลอดจนมีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ สถานะเงินกองทุน (สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 17.9%) ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าสภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจโลกในช่วงครั้งก่อนๆ โดยเปรียบเทียบ

สำหรับผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้สถานการณ์ที่ผันผวนของสกุลเงินลีรา จะมีผลกระทบต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยในระยะนี้ แต่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพและมีผันผวนน้อยกว่า

“แรงกดดันต่อค่าเงินลีราโดยหลักๆ แล้ว จะมาจากปัจจัยของตุรกีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และประเด็นทางการเมืองภายใน เนื่องจากในขณะที่ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงแล้ว 36.8% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ส.ค. 2561) แต่ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียกลับเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าน้อยกว่า โดยอ่อนค่าแล้วประมาณ 5.0% โดยเฉลี่ยจากต้นปี และมีเงินบางสกุล เช่น รูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าค่อนข้างมาก จนทำให้ทางการของประเทศเหล่านั้นต้องเข้าดูแลเสถียรภาพของตลาดในระยะนี้”

ขณะที่เงินบาทขยับอ่อนค่าในกรอบที่จำกัด และอ่อนค่าลงเพียง 2.0% นับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความเคลื่อนไหวระหว่างสกุลเงิน Lira และค่าเงินบาท จะค่อนข้างไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน (มีความสัมพันธ์ประมาณ 79%) แต่ทิศทางดังกล่าวก็น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของไทยจากความเสี่ยงในตุรกีขณะนี้ ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่จะติดตามพัฒนาการของวิกฤตในตุรกี เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและความเป็นไปได้ของผลกระทบทางอ้อมระลอกต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของภาคธนาคารในยุโรปกับตุรกี”

อ่านประกอบ

เตรียมทำใจ! กสิกรไทย ชี้วิกฤตค่าเงินยุโรปตะวันออก ไม่จบที่ตุรกี