เกมส์เทกโอเวอร์ฮอต! 9 บจ. “เสี่ยเจริญ” แบกหนี้ 2.9 แสนล.

บริษัทจดทะเบียนทุ่มเงินซื้อกิจการดีลใหญ่ๆ มูลค่าร่วมแสนล้านบาท ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในยุคการค้าเสรี ล่าสุดผู้ถือหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)อนุมัติให้บริษัท เทคโอเวอร์ บริษัทโกลว์ พลังงาน (GLOW) คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

โมเดลการซื้อกิจการเพื่อโตก้าวกระโดดได้รับความนิยมมานานมาก เห็นภาพชัดเจนจาก“กลุ่มไทยเบฟ” ของ“เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี”ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเต็มตัว เมื่อปี 2544 ในการซื้อบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,569 ล้านบาท ตกหุ้นละประมาณ 42 บาท

หลังจากนั้น อะไรก็ฉุดไม่อยู่ “กลุ่มไทยเบฟ”กว้านซื้อกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าพอร์ตมากมาย เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรของเอเชีย และขยายวงไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินในอนาคต

แต่ละดีล ใช้เงินลงทุนไม่น้อย ดีลที่สร้างความฮือฮา และมีการช่วงชิงกันดุเดือด คือการประมูลซื้อ”เฟรเซอร์แอนด์ นีฟ” หรือ เอฟแอนด์เอ็น บริษัทอาหารเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในสิงคโปร์ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี เมื่อต้นปี 2556 ด้วยมูลค่า 3.36 แสนล้านบาท

กลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการ และขยายอาณาจักรได้อย่างรวดเร็ว หัวใจสำคัญคือ ชื่อเสียงโด่งดังและความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยินดีให้การสนับสนุนสินเชื่อก้อนใหญ่ และนักลงทุนพร้อมที่จะซื้อหุ้นกู้เพื่อลงทุนระยะยาว

ปัจจุบันบริษัทใน “กลุ่มเสี่ยเจริญ” อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 9 แห่ง มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 298,346 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2561 โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)มีหนี้สินมากที่สุดรวม 202,920 ล้านบาท รองลงไปคือ บริษัท ยูนิเวนเจอร์(UV)จำนวน 29,680 ล้านบาท บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD)จำนวน 21,235 ล้านบาท บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON)จำนวน 18,758 ล้านบาท บริษัท โออิชิ กรุ๊ป(OISHI)3,922 ล้านบาท บริษัท เสริมสุข(SSC)จำนวน 3,428 ล้านบาท บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN)จำนวน 1,850 ล้านบาท บริษัท อินทรประกันภัย(INSURE)จำนวน 779 ล้านบาท และ บริษัท อาหารสยาม (SFP)จำนวน 444 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้ BJC มีหนี้สินมากกว่า 2 แสนล้านบาท เกิดจากบริษัททุ่มเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ในการเทคโอเวอร์ บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC)จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่ม คาสิโนกรุ๊ป มูลค่า 1.22 แสนล้านบาท และตั๊งโต๊ะซื้อหุ้นจากรายย่อยทั้งหมด เพื่อถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ รวม 1.21 แสนล้านบาท ตามด้วยเงินกู้สถาบันการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 35,298 ล้านบาท

ทั้งนี้ BJC มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561เป็นต้นไป จำนวน 27,654 ล้านบาท ขณะที่ UV มีจำนวน 3,777 ล้านบาทและ GOLD มีจำนวน 2,354 ล้านบาท ซึ่งจะต้องระดมเงินมาชำระคืน หนึ่งในวิธีนั้นคือการออกหุ้นกู้ชุดใหม่มารีไฟแนนซ์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัททริสเรทติ้ง ประกาศคงอันดับเครดิตของ BJC,UV,GOLD ที่ระดับ A+ ,BBB+ และ BBB+ ตามลำดับ

” ทั้ง BJC ,UV และ GOLD ไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับเครดิตขององค์กร และหุ้นกู้ได้ แม้ว่าธุรกิจจะแข็งแกร่ง แบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับและผลกำไรเติบโตมากก็ตาม ทริสฯให้เหตุผลว่า อันดับเครดิตของ BJC มีข้อจำกัดบางประการจากภาระหนี้สินทางการเงินระดับสูง เป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อกิจการ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในปี 2559 ส่วนเครดิตของ UV และ GOLD จุดแข็งถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากการขยายธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของกลุ่มบริษัทที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะลูกค้าในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำด้วย”

อย่างไรก็ตาม ทริสคาดว่า BJC น่าจะมีผลประกอบการและโครงสร้างเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า

น่าสนใจ… ที่จะซื้อหุ้น BJC เพื่อลงทุนระยะยาว เมื่อเห็นผลงานจากกำไรสุทธิที่เติบโตก้าวกระโดดที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 6 เดือนปี 2561 จำนวน 1,679 ล้านบาท 2,791 ล้านบาท 4,001 ล้านบาท 5,210 ล้านบาท และ 2,841 ล้านบาท แม้ว่ายังมีภาระหนี้สูงกว่า 2 แสนล้านบาทก็ตาม เชื่อฝีมือในการบริหารงานและมั่นใจว่าจะสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน