องค์กรรัฐ “ขาดผู้นำ-แหยงติดคุก” โปรเจกต์ลงทุนปีนี้ “เกิดยาก”

ปีนี้ยังคงเป็นอีกปี ที่หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐและนักวิเคราะห์หลายสำนัก ต่างคาดหวังว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะผลักดันให้มีการเปิดประมูลโครงการลงทุนภาครัฐเพิ่มเติมและเร่งรัดเบิกจ่าย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ให้เติบโตมากกว่า 4% และจะผลักดันให้ดัชนีฯตลาดหลักทรัพย์ไทยไต่ขึ้นแตะ 1,900 จุดได้ในปีนี้

“เรายังคงเป้าดัชนีฯปีนี้ 1,900 จุด เพราะมีสัญญาณที่ดีเรื่องการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการริเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตาม” พรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าว

สอดคล้องกับหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ที่ประเมินว่า การลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 4% โดยสภาพฒน์คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเติบโต 10% จากปีที่แล้วที่ติดลบ 1.2% และการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 3.7% จากปีที่แล้วที่เติบโตเพียง 1.7%

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายหน่วยงานให้น้ำหนักว่า ปีนี้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและการลงทุนในอีอีซีขนานใหญ่ แต่ก็มีหลายหน่วยงานยังแคลงใจว่า การลงทุนภาครัฐจะเกิดขึ้นจริงในปีนี้หรือไม่

“เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ปัจจัยต่างๆใกล้เคียงกับปีก่อน โดยยังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งคงต้องดูว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และโครงการลงทุนในอีอีซีจะมีความคืบหน้าหรือไม่” กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าว

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ที่จับตาแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐ โดยมองว่าการบังคับใช้พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐมากและยาวนานกว่าที่คาด จากเดิมที่คาดว่าผลกระทบจะหมดลงไตรมาสแรกปีนี้ แต่อาจยาวไปถึงสิ้นปีนี้

“สาเหตุที่โครงการลงทุนภาครัฐปีที่แล้วล่าช้าจากเดิม 6-7 เดือน มีการเปิดประมูลเพียง 1.1 แสนล้านบาท เพราะภาครัฐและเอกชนยังแหยงและไม่ชินกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่มีผล 23 ส.ค.2560 ซึ่งมีโทษหนัก จำคุก 1-10 ปี ส่วนปีนี้คาดว่าภาครัฐจะเปิดประมูลงาน 8.2 แสนล้านบาท”ประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) กล่าว

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส (ASP) รายหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปิดประมูลโครงการลงทุนภาครัฐในปีนี้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากมีเสียงกังวลจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างหลายรายว่า การที่หน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนภาครัฐบางแห่งอยู่ในภาวะ “ขาดผู้นำตัวจริง” มีเพียง “ตำแหน่งรักษาการฯ” นั้น อาจทำให้การขับเคลื่อนโครงการและการเปิดประมูลโครงการภาครัฐต้องล่าช้าออกไป

เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ต้องเสนอโครงการลงทุนในแผนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปีนี้นับสิบโครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการรฟท.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสรรหาผู้ว่าการรฟท. แทน อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. มานานกว่า 1 ปีแล้ว จึงเท่ากับว่ารฟท.จะยังไม่มีผู้ว่าการรฟท.ไปอีกนานหลายเดือน

ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แม้ว่าครม.ได้แต่งตั้ง ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ เป็นผู้ว่าการรฟม. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังตำแหน่งว่างลง 11 เดือน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความ “ขัดแย้งภายใน” รฟม.ที่มีมายาวนานสิ้นสุดลง โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้ว่าการรฟทม.ครั้งนี้ เกิดรอยร้าวหนักในบอร์ดรฟม. สุดท้าย พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนตท.รุ่น 12 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ ต้องยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดรฟม.ไปเมื่อต้นเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว

อีกทั้งการทำงานของ ภคพงศ์ อาจมีเหตุต้องสะดุด เพราะก่อนหน้านี้ ภคพงศ์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รฟม.เสียหายร้ายแรงในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ขณะเดียวกัน การ “เปลี่ยนตัว” เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสภาพัฒน์ มาเป็น ทศพร ศิริสัมพันธ์ ซึ่ง “ข้ามห้วย” มาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) น่าจะมีผลกระทบต่อการเสนอโครงการลงทุนของหน่วยงารัฐให้บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาอยู่ไม่น้อย เพราะถือว่าเป็น “งานใหม่” สำหรับ ทศพร

“ตำแหน่งรักษาการฯไม่มีผลต่อการเสนอโครงการให้ครม.อนุมัติ แต่ที่โครงการช้า เพราะต้องผ่าน 3-4 หน่วยงาน เช่น สภาพัฒน์ สำนักงานสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางครั้งมีข้อสงสัยก็ถามมา เช่น โครงการที่เสนอต่อสภาพัฒน์ ข้าราชการสภาพัฒน์เขาต้องรอบคอบ เพื่อจะได้ตอบคำถามของบอร์ดได้ ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจ เขาจะยังไม่เสนอโครงการให้บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณา“ ผู้บริหารรฟท.รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ Hoonsmart.com

ที่เห็นอย่างชัดเจน คือ โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง มูลค่า 3.98 แสนล้านบาท ที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่าจะเสนอครม.อนุมัติโครงการภายในเดือนมิ.ย.นี้ แต่ล่าสุดมีเพียงรถไฟทางคู่เพียง 1 เส้น คือ รถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นเด่นชัย-เชียงของ ที่จะเสนอครม.อนุมัติได้ในเดือนพ.ค.ส่วนเส้นที่เหลือยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

ผู้บริหารรฟท.รายนี้ ยังระบุว่า “การดำรงตำแหน่งรักษาการฯ จะมีผลกระทบในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า เพราะเดิมพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างมีโทษแค่ทางแพ่ง แต่กฎหมายใหม่ให้มีโทษอาญาด้วย ถ้ารักษาการฯคนนั้น เตรียมจะโยกย้ายหรือลาออก ก็แน่นอนว่า เขาคงถ่วงเอาไว้ แต่ถ้าคนที่เป็นรักษาการฯในตำแหน่งนั้น ไม่คิดลาออก และต้องมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างจริงๆ เมื่อมีนโยบายมาแล้วก็ต้องทำ แต่ก็จะใช้ความรอบคอบมากขึ้น จะไม่มีการลัดขั้นตอน”

นอกจากนี้ คำสั่งม.44 ของหัวหน้าคสช.ที่ประกาศเมื่อเดือนก.พ.2560 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ที่มี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธปท.เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ทำให้การเปิดประมูลต้องล่าช้าออกไป

เช่นก่อนหน้านี้ ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯสั่งการให้รฟท.ไปทบทวนร่างทีโออาร์การเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท ทำให้การเปิดประมูลต้องล่าช้าออกไป 5-6 เดือน และเพิ่งเซ็นสัญญากันไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

จึงมีความเป็นไปได้สูงที่โครงการลงทุนภาครัฐปีนี้อาจเป็นฝันค้าง เพราะนอกจากหน่วยงานเจ้าของโครงการสำคัญๆอยู่ในภาวะ “ไร้ตัวจริง” รับผิดรับชอบโดยตรง และบทลงโทษของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่มีโทษอาญาแล้ว ยังมีอุปสรรคอื่นๆรออยู่อีกเพียบ