TDAX เผยกระแส ICO ขาลง สตาร์ทอัพทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้ STO แทน

ยังไม่ทันจะมี ICO ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่ “ปรมินทร์” เจ้าของ TDAX เชื่อว่า การระดมทุนด้วยรูปแบบ ICO กำลังเข้าสู่ขาลง หลังเกิดเหรียญหลอกลวงจำนวนมาก เผยสตาร์ทอัพทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้วิธี Security Token Offering (STO) แทน

นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและร่วมพัฒนา Zcoin และ TDAX Cryptocurrency Exchange เชื่อว่า ในอนาคตความนิยมระดมทุนด้วยรูปแบบ ICO หรือ Initial Coin Offering จะลดลง และเปลี่ยนมาเป็นการออกหุ้นอยู่บน Blockchain หรือ Security Token Offering (STO) แทน

“มีหลายประเด็นที่ทำให้มองว่า ICO น่าจะรอดยาก โดยเฉพาะที่ผ่านมา ICO เป็นการหลอกลวงค่อนข้างมาก หรือ โปรเจกต์ที่ไม่ได้หลอกลวงก็ไม่สามารถทำโปรเจกต์ได้สำเร็จตามที่สัญญาไว้ ทำให้นักลงทุนหันกลับไปดูการระดมทุนแบบเดิมที่มีมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเหมือน IPO ทั่วไป เพียงแต่จะเปลี่ยนจาก IPO ปกติมาเป็นหุ้นที่อยู่บน Blockchain” นายปรมินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายปรมินทร์ เชื่อว่า แม้ว่าจะมี ICO Portal มาช่วยคัดเลือกโปรเจกต์ที่จะ ICO แต่ไม่ได้รับรองว่า ICO นั้นจะได้กำไร เพราะการคัดกรองเป็นเพียงการบอกว่า ICO ตัวนี้ไม่ใช่โปรเจกต์หลอกลวง ขณะที่นักลงทุนที่เข้ามาซื้อ ICO จะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่คาดหวังกำไรสูง

“เมื่อมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน ICO ลดลง ราคา Token จะไม่หวือหวาเหมือนเดิม การทำกำไรได้เป็นร้อยๆ เท่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เต็มที่ก็สิบเท่า ซึ่งในรอบนี้ ICO ผ่านระยะฟองสบู่แตกไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่าเดิม”

ในช่วงที่ผ่านมาโปรเจกต์ที่ ICO ไปแล้วหลายแห่งมีปัญหาการบริหารจัดการเงินไม่ดีพอ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคา Ethereum ลดลง เท่ากับเงินที่ระดมทุนมาได้ลดลงตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้าได้

ดังนั้น TDAX จึงไม่ได้ยื่นขอเป็น ICO Portal แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเป็น ICO Portal ให้กับ JFIN Coin ก่อนที่จะมี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยยื่นขอใบอนุญาต Exchange กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว

“ไม่ได้ทำ ICO Portal แล้ว เพราะผมคิดว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งผมไม่ค่อยเชื่อใน ICO เท่าไร และเชื่อว่า สุดท้ายแล้วจะกลับมาเป็นการระดมทุนในรูปแบบการขายหุ้นที่มีที่ปรึกษาทางการเงิน มีการกำกับดูแล เพราะสาเหตุหนึ่งที่การออก ICO ได้รับความนิยม คือ หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแล แต่หากมีการกำกับดูแลเช่นเดียวกับหุ้น ผู้ประกอบการจะคิดว่า ในที่สุดก็ระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเลยจะดีกว่า โดยที่ออกเป็นหุ้นที่อยู่บน Blockchain จะมีกฎเกณฑ์น้อยกว่าหุ้นที่เข้าจะ IPO และจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สามารถขายหุ้นได้ทั่วโลก ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลหากบริษัทมีกำไร และกำไรจากการซื้อขายหุ้นที่เป็น Token” นายปรมินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายปรมินทร์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้สตาร์ทอัพในหลายประเทศเริ่มระดมทุนด้วยการทำ STO แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา tZERO ซึ่งทำธุรกิจตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน Security Token เปิดระดมทุนเมื่อปลายปี 2560 ด้วยการเสนอขายหุ้นบน Blockchain (STO) โดยรับเป็นเงินสกุลหลัก และ Cryptocurrency

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย นายปรมินทร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถทำ STO ได้ เพราะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งในปัจจุบันการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยจะต้องมีคนไทยถือหุ้นอย่างน้อย 51% ขณะที่การเสนอขายหุ้นบน Blockchain จะเปิดรับผู้ถือหุ้นจากทั่วโลก รวมทั้งการกำกับดูแลคงต้องมีกฎหมายออกมาเพิ่มเติม

นายปรมินทร์ เชื่อว่า หากกฎหมายไทยเอื้อต่อการทำ STO จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทย เพราะทุกบริษัทจะสามารถออกหุ้นและขายหุ้นบน Blcochain ได้