คอลัมนิสต์ : ความเสี่ยงในการลงทุน

สันติ กีระนันท์

เห็นชื่อเรื่องแล้ว ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะมีความรู้สึกว่า เอาเรื่องง่าย ๆ มาชวนคุยทำไม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่เป็นนักลงทุน “มืออาชีพ” อยู่แล้ว คงจะรู้สึกว่า เรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ท่านทราบดีอยู่แล้ว จะมาเตือนอะไรกันอีก ก็ต้องกราบเรียนว่า ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะมาเตือนนักลงทุนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ดังที่เราได้ยินข้อความ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน …” อยู่เสมอ ๆ แต่อยากจะมาชวนคุยว่า เรื่องนี้ มีรายละเอียดบางอย่างที่บางท่านอาจจะมองข้ามไป และการมองข้ามรายละเอียดบางอย่างนั้นไปแล้ว ก็อาจจะทำให้ท่านเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์เต็มที่จากการลงทุน

ลงทุนในหุ้นเสี่ยงกว่าลงทุนในตราสารหนี้

ความเชื่ออย่างแรกที่มีการประกาศกันโดยทั่วไป ก็คือเครื่องมือทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ (ซึ่งมีเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือหลักทรัพย์ประเภททุน ได้แก่ หุ้น — หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น — กับหลักทรัพย์ประเภทหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ — ทั้งภาครัฐและเอกชน — ในขณะที่ปัจจุบันพูดกันถึงเรื่อง “การลงทุนในอนุพันธ์” ซึ่งผมค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยที่ใช้คำว่า “การลงทุน” กับอนุพันธ์ เพราะอนุพันธ์นั้น น่าจะเป็น “การเก็งกำไร” มากกว่าที่จะเป็น “การลงทุน”) หากท่านลงทุนในหลักทรัพย์ประเภททุน ท่านจะต้องรับความเสี่ยงมากกว่าหลักทรัพย์ประเภทนี้ หรือพูดภาษาชาวบ้าน ก็จะบอกว่า ลงทุนในหุ้น เสี่ยงกว่าลงทุนในตราสารหนี้

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ความเชื่อที่ว่านั้น ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เหตุผลก็คือ ท่านอาจจะพิจารณาได้ว่า การลงทุนในหุ้นนั้น ท่านจะมีสถานะเป็นเจ้าของบริษัท ในขณะที่ลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะอยู่ในสถานะความเป็นเจ้าหนี้ และเมื่อพิจารณาถึงลำดับสิทธิที่จะเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทนั้น เจ้าของย่อมมีลำดับสิทธิต่ำกว่าเจ้าหนี้ หมายความว่า ในยามปรกติที่บริษัทหารายได้มาได้ ก็ต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” ให้เจ้าหนี้ ไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรหรือไม่ก็ตาม และหลังจากจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ไปแล้ว หากบริษัทยังมีกำไรสุทธิเหลือจากการจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว ก็อาจจะนำส่วนกำไรสุทธินั้นแบ่งมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับเจ้าของ หรือหากไม่จ่ายเงินปันผล ก็จะเก็บกำไรสุทธิไว้ในกำไรสะสม ซึ่งกำไรสะสมนั้น ก็จะมีเฉพาะเจ้าของเท่านั้น ที่จะมีสิทธิเรียกร้องเอาไปได้ในภายหลัง ถ้าเอาลำดับสิทธิในการเรียกร้องเป็นเกณฑ์ ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องได้ก่อน และสิทธิเรียกร้องนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานด้วย ก็คือเจ้าหนี้ ย่อมแสดงถึงความเสี่ยงของเจ้าหนี้ที่มีน้อยกว่าเจ้าของ

อย่างไรก็ดี แนวทางการพิจารณาความเสี่ยงที่ใช้เกณฑ์ของลำดับสิทธินั้น ก็น่าจะเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในหลายแนวทาง หากพิจารณาต่อไปสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ได้คิดว่าอยากจะดำรงสิทธิความเป็นเจ้าหนี้หรือสิทธิความเป็นเจ้าของอยู่ชั่วนิรันดร์ ก็คงอยากจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ตนเองถือนั้น เพื่อให้ได้เห็นว่ามีกำไรหรือขาดทุนจากการลงทุน ซึ่งหากพิจารณาในเกณฑ์ดังกล่าวนี้แล้ว อาจจะต้องไปพูดถึงเรื่อง “ความเสี่ยงด้านตลาด” หรือ market risk และด้วยความเสี่ยงประเภทนี้ อาจจะต้องเข้าใจกันใหม่ว่า เป็นการยากพอสมควรที่จะบอกว่า market risk ของตราสารหนี้มีน้อยกว่า market risk ของตราสารทุน เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงประเภท market risk ของตราสารหนี้กับตราสารทุนนั้น เป็นปัจจัย (หลัก) คนละปัจจัย แม้ว่าปัจจัยหลักดังกล่าวนั้น อาจจะมีความสัมพันธ์กันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวกัน

กล่าวคือ ปัจจัยเรื่องความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ ในขณะที่ปัจจัยเรื่องนี้มีผล (อาจจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ขึ้นอยู่กับว่า หุ้นสามัญนั้นเป็นหุ้นของกิจการประเภทใด) ต่อหุ้นสามัญหรือตราสารทุนไม่ตรงมากนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจจะเป็นการยากพอสมควรที่จะบอกว่า market risk ของตราสารหนี้มีน้อยกว่า market risk ของตราสารทุน เพราะเป็นการเปรียบเทียบของที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้

นี่เป็นเพียงเบื้องต้นของเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน ยังมีประเด็นความเชื่ออีกหลายอย่างของเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุน ที่ผมคิดว่า นักลงทุนมืออาชีพต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสในการวิเคราะห์การลงทุน และได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากการลงทุน เช่น ความเชื่อเรื่อง high risk, high return ความเชื่อเรื่องความเสี่ยงคือโอกาสขาดทุนจากการลงทุน เป็นต้น

กราบเรียนว่า ผมอยากจะนำเสนอแนวความคิดเพียงเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองคิดเรื่องต่าง ๆ ในแง่มุมที่แปลกแยกไปจากที่ท่านคุ้นเคยบ้าง และอยากรับฟังแนวคิดของท่าน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ และเรื่องที่นำมาคุยนี้ ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า ๆ ที่ผมเคยเล่ามาแล้วหลายครั้งในหลายโอกาส แต่ก็ยังอยากจะชวนคุยกันอีกหลาย ๆ ครั้งครับ