ความจริง ความคิด : หุ้นกู้ ผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมดอกเบี้ยขึ้น

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP

จากทิศทางของแบงค์ชาติที่ค่อนข้างชัดเจนว่าแนวโน้ม “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ของไทยมาแล้ว ทำให้สัญญาณอันหนึ่งที่มาพร้อมกับแนวโน้มดอกเบี้ยขึ้นเสมอ ก็คือ การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน เหตุผลก็เพราะทุกคนต่างต้องการให้เงินของตนเองสร้างผลตอบแทนต่อความเสี่ยงให้มากที่สุด คือ อยากได้ผลตอบแทนมากๆ แต่ความเสี่ยงน้อยๆ

ดังนั้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ในฐานะผู้ฝากหรือผู้ซื้อตราสารหนี้ เราเรามักจะนิยมฝากสั้น เพื่อลดผลกระทบของราคาตราสารหนี้ที่จะวิ่งสวนทางตลาด คือ ดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จะตกลง และอีกเหตุผลก็คือ เราสามารถเอาเงินต้นที่ได้คืนไปลงทุนใหม่ที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ แต่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นเมื่อเป็นประโยชน์กับผู้ฝากหรือผู้ซื้อตราสารหนี้ ก็จะเป็นโทษสำหรับคนออกตราสารหนี้ หรือ ลูกหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ดังนั้น เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น พวกบริษัทต่างๆจึงมักจะออกตราสารหนี้ยาวๆในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆและมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น (อย่างตอนนี้) เพื่อลดต้นทุนของตนเอง

ดังนั้นในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มีบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาว 5.6 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 150 บริษัท และมีแนวโน้มจะออกหุ้นกู้ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้อีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ปีนี้ทั้งปียอดออกหุ้นกู้ใหม่ราว 8 แสนล้านบาท

เมื่อมีตราสารหนี้ให้เราเลือกลงทุนมากมาย เราควรจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้อย่างไรดี

• เลือกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะเบี้ยวหนี้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นกู้ที่เราลงทุนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ให้ดูจากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) (อันดับความน่าเชื่อถือจะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้ออกตราสารหนี้ในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเต็มจำนวนตรงตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งยังบอกถึงความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ออกตราสารหนี้ได้อย่างครบถ้วน) อันดับเครดิตของหุ้นกู้ ที่ประกาศโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเรียงตามลำดับจากอันดับเครดิตที่สูงที่สุด อย่างเช่นของทริสฯ เรียง AAA ดีสุด C เสี่ยงสุด เป็นต้น ตามมาตรฐานสากลอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA ถือว่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB ลงไป มักเป็นหุ้นกู้ในระดับที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Speculative) หากผู้ออกตราสารหนี้ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับต่ำ แสดงว่าผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างสูง ก็จำเป็นต้องเสนอดอกเบี้ยที่สูงเพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนสนใจ แต่หากผู้ออกตราสารหนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูง แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็ย่อมที่จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

• เลือกตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ในตลาดตอนนี้ มีหุ้นกู้หลายประเภท แบบหนึ่งที่ออกกันมาก คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่คนซื้อมีสิทธิในทรัพย์สินในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาหลังคนที่ถือหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ทั่วไป แปลว่าถ้าคนออกหุ้นกู้เจ๊ง จะต้องชำระบัญชีเพื่อคืนเงินให้เจ้าหนี้ คนที่เป็นเจ้าหนี้ทั่วไป (คนที่ถือหุ้นกู้ทั่วไป) จะได้เงินคืนก่อน คนที่เป็นเจ้าหนี้ด้อยสิทธิจะได้เงินคืนหลังคนที่ถือหุ้นกู้ทั่วไปได้เงินคืนเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

• เลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น เพราะธรรมชาติราสารหนี้ ดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลง ดอกเบี้ยลง ราคาตราสารหนี้จะขึ้น วิ่งสวนทางกันเสมอ ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะเสี่ยงกับราคาตราสารหนี้ที่จะลง เราก็ควรลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นๆ จะปลอดภัยกว่า และเพิ่มโอกาสให้กับเราที่จะสามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าปัจจุบันได้

• ถ้าตราสารหนี้เป็นตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน ก็ควรศึกษาลักษณะและเงื่อนไขต่างๆให้เข้าใจก่อนลงทุนอย่างเช่น perpetual bond หุ้นกู้ที่ไม่กำหนดอายุ หรือ exchangeable bond หรือ convertible bond หรือ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

———————————————————-
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com