โลกโรงไฟฟ้าในอนาคต

ธุรกิจโรงไฟฟ้าทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ และเปิดให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศ

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นบริษัทเอกชนอีกบริษัทหนึ่งที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มปตท. และอุตสาหกรรมใกล้เคียง เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญมาก จึงต้องการการจ่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ซึ่ง GPSC ได้ให้บริการกับลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ด้วยดีตลอดมา

ขณะเดียวกัน GPSC ต้องการขยายการลงทุน พร้อมหาโอกาสทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อกลุ่ม ENGIE ของฝรั่งเศส ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 69% ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)หรือ GLOW มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงาน (portfolio)จึงต้องการขายหุ้นบริษัท GLOW ให้กับผู้ลงทุนรายใหม่ หลังจากเจรจากับผู้ประกอบการหลายรายแล้ว ท้ายสุดกลุ่ม ENGIE ก็ได้ข้อสรุปที่จะเลือกเสนอขายหุ้นให้กับ GPSC เพราะเห็นว่า GPSC ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด

ดังนั้นจึงได้มีการเจรจาเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นกันระหว่าง ENGIE และ GPSC และคณะกรรมการบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ อนุมัติให้บริษัทซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน และจะต้องจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดตามกฎเกณฑ์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท

GLOW มีชื่อเสียงเรื่องการให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง และโรงไฟฟ้ามีการดำเนินการเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ทำให้ GPSC สามารถรับรู้รายได้ สร้างกำไร และผลตอบแทนได้ทันที เมื่อบริษัทมีความแข็งแกร่งทางด้านการดำเนินงาน และการเงินแล้ว จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ renewable และ energy storage พร้อมโอกาสในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและสามารถเตรียมพร้อม เพื่อรองรับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภคด้วยกัน

ในที่สุดแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค

แต่การจะซื้อจะขายหุ้นธุรกิจพลังงานใหญ่ขนาดนี้ มิใช่จะทำกันง่ายๆ แค่ตกลงซื้อขายหุ้น แล้วชำระเงินก็จบ

ทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ มีการควบคุมจากหน่วยงานรัฐอย่างมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่ง GPSC และ GLOW ได้ยื่นข้อมูล เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ก่อนที่กกพ.จะอนุมัติก็ต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดและครบถ้วน และได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ ว่าเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าหรือไม่ และ กกพ. มีเวลาในการพิจารณาทั้งหมด 90 วัน

ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กกพ.จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการตรวจสอบ เพื่อสร้างความโปร่งใสในดีลการซื้อขายหุ้นพลังงานมูลค่านับแสนล้านบาท

กรณี นายกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยกเลิกแผนที่จะให้บริษัทลูก ซื้อหุ้น GLOW เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐวิสาหกิจ และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75

ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า หนังสือยังไม่ถึงมือตนเอง แต่เมื่อเรื่องมาถึงก็จะพิจารณาตามข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายหลายตัวควบคุมอยู่ ซึ่งวันนี้ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ต้องมองว่าในประเด็นนี้ความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานี้หรือไม่

ขณะเดียวกัน กรณีผู้ประกอบการที่ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในนิคมฯมาบตาพุด 10 ราย ทำหนังสือ ถึงประธาน กกพ. เพื่อให้ตรวจสอบและกำกับดูแลการซื้อขายหุ้น GLOW ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดในกิจการพลังงานในนิคมฯมาบตาพุด นั้น นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกกพ. ระบุว่า

“เบื้องต้นการซื้อกิจการของ GPSC หากดูเฉพาะในมาบตาพุดอาจมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่จะต้องดูภาพรวมทั้งประเทศด้วย ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 40,000 เมกะวัตต์ เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 20,000 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัท กัลฟ์ ฯ 10,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ GPSC เมื่อรวมกับ GLOW แล้ว จะมีกำลังผลิต 4,800 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่มากนักหากเทียบกับรายอื่น”

ด้าน “เติมชัย บุนนาค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า กรณีที่มีข้อกังวลจากลูกค้าบางส่วนของ GLOW นั้น GPSC ได้เร่งนัดหมายเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจ และเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับลูกค้า เพื่อลดข้อกังวลและให้ความมั่นใจ ว่าจะไม่ให้มีการบริการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า

“ลูกค้า GLOW จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังคงอยู่ภายใต้สัญญาเดิมทุกประการ ธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นสัญญาระยะยาว ระบุถึงราคา ปริมาณซื้อขายที่ชัดเจน ส่วนการกำหนดราคาซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาด หรือ บนพื้นฐานของ Arm’s Length Basis ทั้งนี้สัญญาของลูกค้า GLOW ที่มีอยู่เฉลี่ย มากกว่า 10 ปี อีกทั้งยังมีกกพ.ตรวจสอบและกำกับ สร้างความมั่นใจอีกชั้นหนึ่งว่า การดำเนินธุรกิจถูกต้อง เป็นธรรม และไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ” เติมชัยยืนยัน

ส่วนข้อกังวลเรื่อง GPSC ซื้อหุ้น GLOW เกิดการผูกขาดของกลุ่ม ปตท.ในพื้นที่มาบตาพุดนั้น GPSC เป็นบริษัทเอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีกฎ ระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด และมีการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกเทศชัดเจน ดังนั้นการบริการซื้อขายไฟฟ้า และไอน้ำให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนด และมาตรฐานเทียบเท่ากันกับลูกค้านอกกลุ่ม ปตท.

นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานของไทย กระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดเสรี โดยเฉพาะการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่ง กฟผ. จะเริ่มทดลองนำเข้า LNG ในเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนรายอื่นๆ รวมถึงการเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทางเลือกในอนาคต

ต่อไปจะไม่มีบริษัทใดมีอำนาจเหนือตลาด หรือ สามารถผูกขาดในเรื่องธุรกิจพลังงานได้อีกแล้ว