บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผล 3 กองทุนหุ้นไทย มูลค่า 305 ล้าน

บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นไทย “K-VALUE – RKF2 – RKF4” มูลค่ารวม 305 ล้านบาท พร้อมเปิดกลยุทธ์ลงทุนปีนี้เน้นคัดหุ้นรายตัว รับเป้าดัชนี 1,850 จุด

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนรวมหุ้น 3 กองทุน สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 – 31 มกราคม 2561 ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค หุ้นปันผล (K-VALUE) ในอัตรา 0.55 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดรวงข้าว 2 (RKF2) ในอัตรา 0.80 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดรวงข้าว 4 (RKF4) ในอัตรา 0.46 บาทต่อหน่วย โดยทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2561 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 305.92 ล้านบาท

ด้านผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นที่มีการจ่ายปันผลในครั้งนี้ นางสาวธิดาศิริกล่าวว่า กองทุน K-VALUE นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลแล้วทั้งสิ้น 23 ครั้ง รวมเป็นอัตรา 10.12 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนมีอัตราการจ่ายปันผลประมาณ 10.99% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา* ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 17.97% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐาน (SET TRI) ซึ่งอยู่ที่ 17.27% และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 22.89% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 19.53% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.61) โดยกองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มจ่ายปันผลสม่ำเสมอในอัตราที่สูงกว่าตลาด และมีมูลค่าทางปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม

ด้านกองทุน RKF2 นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน มีการจ่ายเงินปันผลแล้วทั้งสิ้น 27 ครั้ง รวมเป็นอัตรา 20.64 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนมีอัตราการจ่ายปันผลประมาณ 10.28% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา* สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 19.10% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐาน (SET TRI) ซึ่งอยู่ที่ 17.27% และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 23.72% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 19.53% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.61) ด้านกองทุน RKF4 นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน มีการจ่ายเงินปันผลแล้วทั้งสิ้น 22 ครั้ง รวมเป็นอัตรา 9.53 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนมีอัตราการจ่ายปันผลประมาณ 7.85% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา* และมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 17.02% ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 17.27% และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 18.85% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 19.53% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.61) สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน RKF2 และกองทุน RKF4 เน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นหุ้นกลุ่มที่แนวโน้มผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง

สำหรับมุมมองด้านการลงทุนและเศรษฐกิจภายในประเทศ นางสาวธิดาศิริกล่าวว่า “บลจ.กสิกรไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2561 นี้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือไปจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังคงมีทิศทางที่ดีแล้ว เราคาดว่าการบริโภคและการลงทุนจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งได้แรงสนับสนุนมาจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมของประเทศที่ได้มีการประมูลไปในปีก่อนหน้า ตลอดจนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มมีความคืบหน้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติรวมถึงภาคเอกชนมีความความมั่นใจต่อการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50% เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปีมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีการทบทวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้หากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมีการปรับขึ้นเร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงปัจจัยที่ผู้ลงทุนจะต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลังคือ ความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบของโลกที่จะเริ่มลดลงในปีถัดไป หากเป็นไปตามกำหนดจะเห็นว่าในปีหน้าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเริ่มถอนสภาพคล่องออกจากตลาดเช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ”

นางสาวธิดาศิริกล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.กสิกรไทยมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปี 2561 อยู่ที่ระดับ 1,850 จุด บนปัจจัยพื้นฐานที่ระดับ P/E ปี 2561ที่ประมาณ 16.5 เท่า จากการประมาณการณ์อัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ที่ 10% และผลตอบแทนจากเงินปันผลอีกประมาณ 3% ทั้งนี้ ธีมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ บลจ.กสิกรไทยยังคงเน้นกลยุทธ์การลงทุนโดยการคัดเลือกหุ้น (Stock Selection) ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการสนับสนุนการลงทุนผ่านโครงการ EEC อาทิ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงแรม เป็นต้น