ANAN หุ้นกำไรโต-ปันผลสูง ตุนยอดขาย 5 หมื่นล. สบายไป 4 ปี

อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ติดปีกบินไปได้ไกล วิศวกรรมทางการเงินออกดอกออกผลชัดเจนมากขึ้น มี Backlog รวม 54,600 ล้านบาท สูงอันดับต้นๆของธุรกิจ ธุรกิจมีโอกาสโตก้าวกระโดดตามจำนวนสถานีรถไฟฟ้า จ่ายเงินปันผลปีนี้สูงสุด นักลงทุนสนใจหุ้นกู้คล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ที่กำลังขายครั้งที่ 4 เพิ่มพันธมิตรขยายร่วมลงทุน หนุนอัตรากำไรสุทธิพุ่ง เสริมรายได้มั่นคง-รับค่าบริหารโครงการ

นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า อนันดาฯใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพราะมองเห็นโอกาสในการลงทุน เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond)เพื่อนำไปซื้อที่ดินและเกิดโครงการใหม่ แต่ก็ยังขยายตัวไม่เร็วอย่างที่ตั้งใจ ทำให้มีคู่แข่งมาสร้างและขายคอนโดมิเนียมริมทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ส่วนการออกหุ้นกู้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยรวมบริษัทพยายามดูแลไม่ให้สัดส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนเกิน 1 ต่อ 1 เท่า ปัจจุบันต้นทุนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 4-6% ต่อปี


“บริษัทไม่เคยหยุดนิ่ง มุ่งเน้นธุรกิจหลัก และต้องการสร้างรายได้ประจำมากขึ้น เราดีซายน์ธุรกิจด้วยการ joint venture จะร่วมลงทุนมากขึ้นในลักษณะนี้ ซึ่งจะไม่เห็นผลต่องบการเงินโดยตรง แต่จะดีต่อกำไรสุทธิ เห็นได้จากในครึ่งแรกปีนี้ แม้ว่ารายได้รวมลดลง แต่กำไรสุทธิโตขึ้นมาก 74% เป็น 730 ล้านบาท เพราะไตรมาสที่ 2/2561 มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุน พลิกจากเดิมที่รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน เป็นดอกผลที่รับรู้จากการร่วมลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่มารายได้หลักมาจากยอดการโอนโครงการที่เราลงทุนเอง ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว ส่วนโครงการที่ร่วมทุน เราได้ค่าบริหารโครงการด้วยจากการออกแบบ การขาย และการทำการตลาดให้ “นายชัยยุทธกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน กล่าวว่า ในช่วงนี้บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ครั้งที่ 4 มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ย 8.5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก จากการนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์)พบว่านักลงทุนให้ความสนใจ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการขาย ส่วนคำถามว่าการออกแล้วมีต้นทุนสูง จะคุ้มค่าไหม คุ้มเพราะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนถึง 15% บวกลบ และจะออกอีกหรือไม่ บริษัทจะนำข้อมูลกระแสเงินสดมากำหนด เพื่อให้งบการเงินมีประสิทธิภาพ ไม่มีเหตุผลว่าต้องออกทุก 3 หรือ 6 เดือน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะออกเพิ่มในอนาคต ภายใต้การมีวินัยการเงินในการใช้เครื่องทางการเงินเข้ามาบริหารจัดการชัดเจน

ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท มูลค่า 1,500 ล้านบาท ในวันที่ 20-25 ก.ย.2561 และวันที่ 1-4 ต.ค.2561 อีกจำนวน 750 ล้านบาท บริษัทฯเริ่มออกครั้งแรก เมื่อปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 และ ปี 2560 บริษัทออกขายมูลค่า 1,000 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท และ 1,230 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหุ้นกู้ที่บริษัทออกมารวม 11 ครั้ง มูลค่าทั้งสิ้น 22,500 ล้านบาท

นายชัยยุทธ กล่าวถึงการร่วมลงทุนกับบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ว่า มีการพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องอนันดาฯร้อนเงิน ซึ่งฝ่ายบริหารของทั้ง 2 บริษัท มีความเชื่อเรื่องศักยภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความร้อนแรง และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า กลุ่มมาม่ามีเงินเย็น สภาพคล่องสูง แต่ไม่มีที่จะลงทุนก็นำเงินเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ดีลนี้มีการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพหลัก 3 โครงการ คาดสร้างเสร็จ พร้อมโอนในปี 2562-2563 โดยในอนาคตอาจจะมีการร่วมลงทุนในแบบนี้อีก

โอนและยอดขายเข้าเป้าปีนี้

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ นายชัยยุทธกล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 38,000 ล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกโอนกรรมสิทธิ์ได้จำนวน 10,599 ล้านบาทก็ตาม ครึ่งปีหลังรอโอนอีก 28,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ทำให้รายได้เติบโต ตามการจะรับรู้เมื่อมีการส่งมอบบ้าน

สำหรับยอดขายปีนี้ก็ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 35,120 ล้านบาท นับเป็นจุดสูงสุดใหม่(นิวไฮ) โดยมาจากโครงการคอนโดมิเนียมสัดส่วน 87% และโครงการแนวราบ 13% ส่วนการเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 15,552 ล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาสที่ 3/2561 จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวม 8,694 ล้านบาท และไตรมาส 4 เตรียมเปิดอีก 3 โครงการ มูลค่า 6,858 ล้านบาท รวมทั้งปีเปิดทั้งหมด 13 โครงการ มูลค่า 27,100 ล้านบาท

“แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ใกล้สถานีรถไฟฟ้ายังคงเติบโตขึ้นอีกมากตามการเปิดสถานีใหม่ จากปัจจุบันมีจำนวน 87 สถานี เพิ่มเป็น 130-140 สถานีในอีก 3 ปี และจะมากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า “นายชัยยุทธกล่าว

แชมป์ขายให้ต่างชาติและ Backlog สูง

นายคมสัน อัตถพลพิทักษ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ANAN กล่าวว่า บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้(Backlog ) จำนวน 54,600 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. 2561 นับว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอสังหาริมทรัพย์ รองรับการรับรู้รายได้ใน 3-4 ปีข้างหน้า

ส่วนการเปิดโครงการใหม่ปีนี้ ลดลงจากปีที่ผ่านมา เป็นไปตามวงจรเงินทุน และที่ผ่านมา เมื่อปี 2557 บริษัทมีการซื้อที่ดินและลงทุนสร้างโครงการใหม่จำนวนมาก ทำให้ยอดโอนในปีนี้เพิ่มขึ้น และโครงการร่วมทุน ยังช่วยทำให้บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 24%

ปีนี้จ่ายเงินปันผลสูงสุด

นอกจากนั้นการที่บริษัทจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 11.5 สตางค์/หุ้น จากผลกำไรในครึ่งปีแรก นับเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงสุดของบริษัท และเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.06 บาท เมื่อมีกำไรมากขึ้นก็จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น แนวโน้มการดำเนินงานยังดีต่อเนื่อง ตามความต้องการซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ตลาดเอเชียคงคงเติบโตดี จากจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ สัดส่วนลูกค้าต่างประเทศอยู่ที่ 30% ในปีนี้ยังคงตั้งเป้าซื้อที่ดินจำนวน 10,000 ล้านบาท

“บริษัทฯเคยเป็นแชมป์ขายอสังหาริมทรีพย์ให้ต่างชาติ จำนวน 9,700 ล้านบาท คิดป็นสัดส่วน 28% ของยอดขาย ปัจจุบันตลาดเอเชียยังดีอยู่ ตามการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าของรัฐบาล บริษัทมีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมเฉลี่ย 10 โครงการต่อปี “นายคมสันกล่าว