แบงก์ชาติ คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ดอกเบี้ยไม่เกิน 28% เริ่ม พ.ย. นี้

ธปท. คาด พ.ย. นี้ ประกาศเกณฑ์คุมผู้ประกอบสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท กำหนดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28% ต่อปี ชี้เพื่อความเป็นธรรมผู้บริโภค มั่นใจไม่กระทบผู้ประกอบการรายใหญ่ เหตุแข่งขันสูงคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ภายในปลายเดือน ต.ค. – ต้นเดือน พ.ย. 2561 จะสามารถประกาศใช้หลักเกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่เหมาะสม โดยในร่างหลักเกณฑ์กำหนดเพดานดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 28% ต่อปี ยกเว้นค่าทวงถามหนี้ที่คิดได้ตามจริงโดยสมควรแก่เหตุ โดยไม่กำหนดวงเงินสินเชื่อ

ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) โดยเน้นความโปร่งใส การดูแลข้อมูลลูกค้า และการจัดการเรื่องการร้องเรียน เช่น

– ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแทนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของผู้ให้บริการแต่ละรายได้สะดวกมากขึ้น
– ห้ามคิดค่าธรรมเนียมการชำระคืนก่อนครบสัญญา
– ในกรณีที่ยึดหลักประกันและนำออกขายทอดตลาดได้มูลค่ามากกว่ามูลหนี้คงค้างจะต้องคืนส่วนต่างให้ลูกหนี้
– กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ให้คำนวณจากเงินต้นคงเหลือเท่านั้น ห้ามคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย

“จากการสำรวจของ ธปท. พบว่า ผู้ประกอบการในปัจจุบันจะคิดอัตราดอกเบี้ยบวกกับค่าธรรมเนียมสำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์จะอยู่ระหว่าง 25-65% ต่อปี สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์อยู่ระหว่าง 20-50% ต่อปี แต่ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25-30% ต่อปี” น.ส.ดารณี กล่าว

น.ส.ดารณี กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานที่กำหนดอยู่แล้ว โดยคิดดอกเบี้ยประมาณ 20% ต่อปี โดยไม่รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าว รวมทั้งมั่นใจว่า จะไม่มีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เห็นได้จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

“ในปัจจุบันสินเชื่อจำนำทะเบียนได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก โดยประเมินว่า มีผู้ใช้บริการมากกว่า 3 ล้านราย ผู้ให้บริการมากกว่า 1,000 ราย และมูลค่าสินเชื่อคงค้างมากกว่า 2 แสนล้านบาท” น.ส.ดารณี กล่าว

ทั้งนี้ ในร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนขึ้นต่ำ 50 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลที่ ธปท. ประเมินว่า ในจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีอยู่มากกว่า 1,000 ราย มีเพียง 100 รายเท่านั้นที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาท แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 90% โดยผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 ราย ได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC), ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และ เงินติดล้อ มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันประมาณ 50%

“หลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกํากับ (P-loan) จะต้องมายื่นขอใบอนุญาตภายใน 60 วัน โดยผู้ประกอบการรายใดที่มีทุนจะทะเบียนไม่ถึง 50 ล้านบาทจะต้องเพิ่มทุนให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่ในระหว่างนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาต P-loan รวมทั้งสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน ไม่ต้องใบอนุญาตใหม่ เพียงแต่แจ้งมาที่ ธปท. เท่านั้น” น.ส.ดารณี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเป็น 50 ล้านบาทได้ ยังสามารถให้บริการได้ภายใต้ใบอนุญาต Pico Finance ที่ให้บริการได้เฉพาะในจังหวัด กำหนดทุนจดทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย และเพดานอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่เกิน 36% ต่อปี

“ถ้าเป็น Pico Finance น่าจะทำได้เฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ เพราะจะให้วงเงินประมาณ 5,000-20,000 บาท ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 160,000-200,000 บาท หรือ ประมาณ 50-70% ของมูลค่ารถยนต์” น.ส.ดารณี กล่าว

ทั้งนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและประชาชน จนถึงวันที่ 12 ต.ค. นี้ โดยคลิกไปที่ แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน