บลจ.บัวหลวง เสิร์ฟ 2 กอง RMF “ลงทุนอินโนเวชั่นทั่วโลก-หุ้นเอเชีย”

บลจ.บัวหลวง ส่ง 2 กองทุน RMF ใหม่ “B-INNOTECHRMF และ B-ASIARMF” หวังตอบโจทย์นักลงทุน ให้มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับออมเงินรับวัยเกษียณ เปิดขายครั้งแรก 2-9 ต.ค.นี้

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงเตรียมเปิดเสนอขาย “กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ B-INNOTECHRMF และ “กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ B-ASIARMF เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 2-9 ต.ค.นี้ เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนที่กำลังมองหากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีประจำปี พร้อมไปกับโอกาสรับผลตอบแทนด้วยการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการออมเงินรับวัยเกษียณในด้านการจัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation)

“กองทุนบัวหลวงไม่หยุดที่จะมองหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยการพิจารณาออกกองทุนใหม่แต่ละครั้ง กองทุนบัวหลวงคำนึงถึงภาพการลงทุนในระยะยาว มองศักยภาพการเติบโตที่ชัดเจน ไม่ใช่การออกกองทุนตามกระแสที่ร้อนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เช่นเดียวกับการเลือกกองทุน B-INNOTECH และกองทุน B-ASIA มาต่อยอดเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพราะเราเชื่อมั่นว่า ทั้ง 2 กองทุนนี้สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้ดีในระยะยาว และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้นักลงทุน อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศและเข้าใจความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปด้วย” นายพีรพงศ์ กล่าว

กองทุน B-INNOTECHRMF นโยบายลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Fidelity Funds – Global Technology Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Class Y-ACC-USD เพียงกองทุนเดียว เช่นเดียวกับ B-INNOTECH

ทั้งนี้ B-INNOTECH เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง และมีโอกาสเติบโตในอนาคต นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 จนถึงสิ้นปี พบว่า กองทุนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 15% ทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่น และเรียกร้องให้ต่อยอดกองทุนนี้เป็นกองทุน RMF

ขณะเดียวกันกองทุนบัวหลวงมีมุมมองว่า ปัจจุบันเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่ 4 เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจะกลายเป็นตัวแปรหลักที่เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ อุตสาหกรรม และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะเห็นได้จาก ปัจจุบันหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก ถึง 8 ใน 10 ล้วนเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั้งสิ้น

“กองทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนที่เชื่อว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนโลก เมื่อนวัตกรรมจากทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ลองคิดว่า จะมีเม็ดเงินไหลเข้าบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมมากขนาดไหน ดังนั้น B-INNOTECHRMF น่าจะตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการคว้าโอกาสการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้” นายพีรพงศ์ กล่าว

สำหรับกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ B-ASIARMF มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Invesco Funds – Invesco Asian Equity Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Class C (AD) USD เช่นเดียวกับกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA)

กองทุนบัวหลวงเชื่อมั่นว่า เอเชียจะเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เร่งตัวกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จากข้อมูลขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 6% จากนี้ไป จนถึงปี 2563 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ มาจากจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก คือ มีประชากรรวมกันกว่า 4,200 ล้านคน อีกทั้งการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ยังช่วยกระตุ้นการบริโภคในภูมิภาคนี้ ซึ่งถือเป็นภาพมุมมองระยะยาวที่ไม่เปลี่ยนแปลงขณะเดียวกัน ข้อมูลดัชนี MSCI Asia Ex Japan (USD) พบว่า ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของหุ้นเอเชียไม่นับรวมญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2561 อยู่ที่ 13.51 เท่า ซึ่งไม่ได้แพงจนเกินไป จึงมองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว

สำหรับการลงทุนใน RMF นั้น ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้พึงประเมินในแต่ละปี หรือขั้นต่ำ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่ากัน) และลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อนับรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท โดยต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีลงทุน (ห้ามระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันทั้งที่ยังมีเงินได้)

นอกจากนี้ ต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีบริบูรณ์นับจากวันที่ซื้อครั้งแรกและต้องถือหน่วยลงทุนจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain)