บลจ.ทาลิส แนะเพิ่มพอร์ตหุ้นไทย 70% ดักเลือกตั้ง-กำไรบจ.โต

บลจ.ทาลิส แนะจัดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยเชิงรุก 70% มองปัจจัยบวกสนับสนุนจากความชัดเจนทางการเลือกตั้งกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต 10-12% ปีนี้ ชูสถิติเลือกตั้ง 5 รอบ 6 เดือนก่อนเลือกหุ้นพุ่ง 10-18% มีเพียงครั้งเดียวหุ้นติดลบ

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส จำกัด ประเมินสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงสนับสนุนในเชิงปัจจัยพื้นฐานของปีนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเติบโต 10-12% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราการเติบโตที่ดีกว่าปีก่อนที่ 9% รวมถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาประมาณสัปดาห์ที่ 2 ในเดือนต.ค. โดยภาพรวมคาดว่าจะเติบโตอยู่ในระดับ 15% ขึ้นไป ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี หากเปรียบเทียบกับในสองไตรมาสที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีแรกผลประกอบการเติบโตที่ประมาณ 10%

นายประภาส กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ถือว่ามีส่วนสนับสนุนสถานการณ์การลงทุนของตลาดหุ้นไทย คือเรื่องของการเลือกตั้ง ภายหลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สว.และ สส. พ.ศ. 2561 ในวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้การเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นเริ่มมีการตอบสนองในเชิงบวก เพราะหากดูข้อมูลย้อนหลังจากการเลือกตั้งใน 5 รอบ ที่ผ่านมา จะมีเพียงหนึ่งรอบเท่านั้นที่ก่อนการเลือกตั้ง 6 เดือน ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลง แต่นอกนั้นทุกรอบที่มีการเลือกตั้ง ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 6 เดือน ดัชนีตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10-18% หรือสรุปได้ว่า ใน 5 รอบดัชนีจะมีการบวก 4 รอบและติดลบ 1 รอบ

“ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจของไทยตอนนี้อยู่ในช่วงทิศทางขาขึ้น ดังนั้น ช่วงเวลา 6 เดือนนับจากนี้ ถ้ามองว่าวันเลือกตั้งคือ วันที่ 24 ก.พ.2562 ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเลือกตั้งคือ 24 ส.ค.2561 – 24 ก.พ.2561 ซึ่งหากไปดูสถิติย้อนหลังในอดีตตลาดจะบวก 18% ดังนั้น หากดูช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. จนถึงช่วงระยะนี้หุ้นได้บวกขึ้นมาประมาณ 3% แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จะ ยังคงได้รับปัจจัยเชิงบวกในเรื่องของฤดูกาลการเลือกตั้ง รวมถึงเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และตัวเลข GDP ที่จะประกาศออกมาในช่วงเดือนพ.ย.นี้ประมาณที่ 4.5%” นายประภาส กล่าว

สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องจับตามอง คือ ประเด็นเรื่องการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจและกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 3 ในแง่ของพัฒนาการของสถานการณ์ ถือว่าไม่ได้ลดความร้อนแรงลงแต่อย่างใด เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ อย่างในเรื่องของการขึ้นภาษี 25% ในทันที ก็กลายเป็นแค่ 10% และขึ้นเป็น 25% ในช่วงต้นปีหน้า และการตอบโต้ของจีนที่เคยบอกว่าจะมีการเพิ่มภาษีที่ 25% ก็กลับกลายเป็นว่าเพิ่มเพียง 5-10% และไม่มีสองเฟสตามที่เคยกล่าวไว้ ซึ่งถือเป็นการตอบโต้น้อยกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยนี้จึงทำให้ผู้ลงทุนมีความสบายใจขึ้น แต่ประเด็นนี้ก็ยังคงมีความยืดเยื้ออีกพอสมควร เนื่องจากเป็นรูปแบบการเจรจาของแต่ละฝ่ายที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

“บลจ.ทาลิส ประเมินปัจจัยลบภายนอกค่อนข้างจะหนักหน่วงโดยคาดว่าจะเบาบางลงในเชิงของความเสี่ยง แต่ปัจจัยบวกภายในประเทศก็น่าจะเป็นข่าวดี เป็นแรงสนับสนุนกระตุ้นให้ตลาดเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแกว่งตัวไปในทิศทางขาลง และมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในส่วนที่เหลือของปีนี้จนต่อเนื่องไปถึงช่วงของการเลือกตั้ง และถึงแม้ว่าตลาดจะมีการปรับตัวขึ้น แต่คงเป็นการปรับตัวขึ้นแบบปรับฐานเป็นรอบ ๆ ซึ่งในระยะยาว เวลาที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวร้อนแรงก็มักจะมีผลต่อการปรับตัวในอนาคต เช่นเดียวกับในรอบปีนี้ที่ดัชนีจาก 1,850 จุด ปรับลงมาที่ 1,600 จุด ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า” นายประภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นโอกาสดี ในการจัดน้ำหนักการลงทุนของพอร์ต ที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้อยู่ในระดับเชิงรุก โดยประมาณ 60-70% ของพอร์ตในกรอบการลงทุนช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ คาดว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งบลจ.ทาลิส มีกองทุนที่ตอบโจทย์สถานการณ์การลงทุนในช่วงนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดทาลิส เฟล็กซิเบิ้ล (TALIS Flexible Fund) – TLFLEX ซึ่งเป็นกองที่จะดูแลเรื่องความผันผวนของตลาด เพราะมีนโยบายกระจายเงินลงทุนของกองทุนในตราสารทุน และตราสารหนี้ โดยกองทุนจะพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละ ประเภทในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนและตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์และสภาพตลาดในแต่ละขณะ