วิจัยกสิกรฯ คาดแบงก์กำไร Q3/61 โต 7.7% หวังสินเชื่อชดเชยค่าฟีหด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไตรมาส 3/61 กลุ่มแบงก์กำไร 4.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.7% จากงวดปีก่อน แต่ลดลง 9.1% จากไตรมาสก่อนหน้า เหตุผลกระทบจากลดค่าธรรมเนียมการโอน NPL ขยับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 พร้อมจับตามาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หวั่นกระทบภาพรวมสินเชื่อโค้งสุดท้ายของปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ไตรมาส 3/2561 ว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 7.7% YoY ซึ่งเป็นทิศทางการขยายตัวที่ชะลอลง และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง 9.1%

ทิศทางดังกล่าว สะท้อนผลกระทบจากการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินฯ ที่ชัดเจนขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ลดลง ช่วยทำให้ผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่รายได้ที่หายไปมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจยังให้น้ำหนักกับการตั้งสำรองหนี้ฯ เพื่อรองรับสถานการณ์เอ็นพีแอลที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข

ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเน้นกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่กับการผลักดันรายได้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ดอกเบี้ย ตามแรงส่งของสินเชื่อที่ยังขยายตัวดีและรายได้ค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ เพื่อประคองความสามารถในการทำกำไรเฉพาะหน้า

“ปี 2561 เป็นอีกปีที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยเผชิญหลายโจทย์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่นิ่ง รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ตลอดจน การบริหารจัดการต้นทุน เพื่อประคองความสามารถในการทำกำไรในภาพรวม”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

สำหรับในไตรมาส 3/2561 นี้ แม้จะคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองฯ และภาษี) ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนได้ราว 9.4 หมื่นล้านบาท แต่ก็เป็นอัตรากำไรที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 2.0% จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 3/2561 ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลในไตรมาส 2/2561 และการตอบรับของผู้บริโภคต่อนโยบายดังกล่าวและต่อโครงการพร้อมเพย์ที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาต่อค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่น่าจะยังคงหดตัว YoY ในระดับสูงด้วยทศนิยมสองตำแหน่ง ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ อาทิ รายได้จากการเป็นนายหน้าขายประกันและกองทุนรวม ตลอดจนค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต มาช่วยบรรเทาแรงกดดันบ้างก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว คงทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมรับในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีโอกาสทรงตัว ถึงหดตัวราว 3% YoY ซึ่งเป็นทิศทางที่ชะลอลงจากอัตราการเติบโตที่ 8.5% และ 1.4% YoY ในไตรมาส 1/2561 และไตรมาส 2/2561 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ยังสามารถรักษาแรงส่งที่ดี ช่วยประคองกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองฯและภาษี) ในภาพรวม ไม่ให้หดตัวลงแรงจากปีก่อน โดยแรงส่งที่สำคัญ มาจากสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจาก 5.4% YoY ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 มาที่ราว 6.0% YoY ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 ตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากอัตราผลตอบแทนแท้จริงจากเงินให้สินเชื่อ (Effective Return from Loans) ที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับส่วนผสมของสินเชื่อผลตอบแทนสูงข้างต้นในพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการต้นทุนโดยเฉพาะฝั่งเงินฝากอย่างระมัดระวังผ่านหลายแนวทาง อาทิ การออกแคมเปญเงินฝากที่เน้นการชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดเป็นหลัก และการรักษาสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ในระดับสูง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการต้นทุนเฉพาะหน้าได้ สอดคล้องกันกับทิศทางขาขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จึงคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) สำหรับไตรมาส 3/2561 จะปรับตัวสูงขึ้นมาที่ประมาณ 3.2% จาก 3.16% ในไตรมาส 2/2561

ด้านค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยประมาณการว่า Credit Cost (สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ) ของไตรมาสที่ 3/2561 จะอยู่ที่ 1.17% เทียบกับของไตรมาส 2/2561 ที่ 1.14% ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลในภาพรวม ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ท่ามกลางสถานการณ์การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังค่อยเป็นค่อยไป กดดันรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี รวมทั้งสินเชื่อบุคคลในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ที่ยังมีหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 จะอยู่ที่ระดับ 2.95% ซึ่งแม้ว่ามีโอกาสเพิ่มจาก 2.93% ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 เล็กน้อย แต่ก็อยู่ในระดับต่ำกว่าจุดสูงสุด (Peak) ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 ที่ 2.97% และคาดว่าจะปรับลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ตามปัจจัยด้านฤดูกาล ตลอดจนจังหวะของการตัดหนี้สูญและขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ดังกล่าว ปรับตัวลดลงเกือบ 18% YoY ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังรักษาช่วงบวกจากระยะเดียวกันของปีก่อนไว้ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะรายงานกำไรสุทธิที่ราว 4.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 7.7% YoY ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจาก 17.1% YoY ในไตรมาสที่ 2/2561 ขณะเดียวกัน ก็ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 9.1%

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นด้านคุณภาพหนี้และทิศทางผลกระทบของนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรวมแล้ว ประเด็นติดตามเฉพาะหน้าสำคัญยังอยู่ที่การบริหารจัดการรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ ของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการขายเงินลงทุน ซึ่งอาจมีผลช่วยหนุนผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยให้มีโอกาสดีกว่าที่คาดได้ ตลอดจน การประกาศแนวทางดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจมีผลต่อทิศทางตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ตลอดจนภาพรวมสินเชื่อในช่วงเดือนที่เหลือได้