ECF ชูเป้ารายได้ 1 หมื่นล้านพยุงหุ้น อารักษ์-บริษัทฯ เล็งซื้อคืน

‘อารักษ์’ยืนยันปัจจัยพื้นฐานของ ECF แข็งแกร่ง โมเดลธุรกิจซื้อกิจการ สร้างรายได้เข้าสู่เป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี แจงเพิ่งรู้ “กระทรวง”ซื้อหุ้นล็อตใหญ่กว่า 2% จากพ่อ ลั่นหากราคายังลงลึกดูจังหวะเหมาะสม จะเสนอบอร์ดเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน ส่วนตัวก็จะซื้อด้วย เพราะรู้ที่มาของรายได้และกำไรเป็นอย่างดี

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค(ECF) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น ECF ที่ร่วงลงแรง เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลง บริษัทฯ กลับมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก เมื่อตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai)ปี 2556 มีเพียงโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ 2 แห่ง บนเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ แต่ปัจจุบันมีการขยายธุรกิจใหม่ คือ โรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและเมียนมา และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) พิจารณาในเดือนพ.ย. 2561 ในการเข้าไปลงทุนในธุกิจไอที ที่มียอดขายสูงมาก เพื่อให้รายได้เข้าสู่เป้าหมาย 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 จากที่มีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาทในขณะนี้

“โมเดลธุรกิจของผม จะต้องเดินทางลัด หาธุรกิจดีๆ เข้ามารวม และเราจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลักการเลือกบริษัท นอกจากดูเรื่องรายได้ และกำไรแล้ว ต้องมีผู้บริหารที่ดีด้วย เมื่อโมเดลธุรกิจเป็นแบบนี้ ก็จะมีคนเข้ามาเสนอดีลให้ซื้อเกือบทุกวัน ต้องเดินทางไปดูทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทที่คุณกระทรวง จารุศิระ เสนอมาเมื่อประมาณเดือนมิ.ย.ทื่ผ่านมาด้วย แต่ผมก็ไม่ได้ซื้อ และแต่ละดีล ผมก็บอกกับนายหน้าทุกครั้งว่า การเจรจาผมจะคุยโดยตรงกับเจ้าของ เพื่อให้ได้ดีลที่ดีที่สุด”นายอารักษ์ กล่าว


กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นหลายดีล มีธุรกิจหลากหลาย โรงไฟฟ้าก็มี จากที่ซื้อแล้ว ที่โรงไฟฟ้าที่นราธิวาส แพร่ และเมียนมา ส่วนการซื้อบริษัทไอที ที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป จะต้องรอเสนอบอร์ดก่อน หากได้รับการอนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน จะเริ่มรับรายได้ในปี 2562 เป็นต้นไป เรื่องเงินลงทุนไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าที่เมียนมาโรงแรก ขนาด 50 เมกะวัตต์ ก็จะรับรู้รายได้ต้นปีหน้า และปลายปีรับรู้จากโรงที่ 2 ทำให้รายได้เติบโตมากกว่าปกติ ที่ขยายตัว 10-15 % พร้อมกับโครงสร้างรายได้เปลี่ยนแปลงไป เป็น เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้า และไอที สัดส่วนใกล้เคียงกัน 30% จากปัจจุบันมาจากเฟอร์นิเจอร์ 80% และโรงไฟฟ้า 20% ในอนาคตจะนำบริษัทในกลุ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งมีศักยภาพหลายแห่ง

ส่วนกรณีที่นายกระทรวงเข้ามาถือหุ้น ECF สัดส่วน 2% เศษ นายอารักษ์ กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าซื้อหุ้นล็อตใหญ่จากพ่อ ผ่านทางพี่ชายที่รู้จักกับนายกระทรวง อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้นยังคงปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง ก็จะพิจารณาความเหมาะสมในการเสนอบอร์ดให้พิจารณาเรื่องเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดพร้อมที่จะดำเนินการได้ หรือส่วนตัวอาจจะซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอง แต่ขณะนี้ยังซื้อไม่ได้เพราะติดเกณฑ์ในช่วงเวลาใกล้ส่งงบการเงินห้ามผู้บริหารซื้อหรือขายหุ้น

“หุ้นที่ร่วงลงแรง ผมเช็คแล้ว คนในครอบครัวผมไม่มีใครขายหุ้นออกมาเลยแม้แต่หุ้นเดียว ยังคงถือสัดส่วนประมาณ 50% ผมมีหน้าที่บริหาร ถ้าทุกคนเห็นความเจริญเติบโตของบริษัท ก็มีสิทธิเข้ามาลงทุน ส่วนผมที่รู้จักโมเดลธุรกิจดี กำไรและรายได้มาจากตรงไหนบ้าง เมื่อราคาเหมาะสม ก็จะเข้าไปซื้อหุ้น ผมไม่สนใจหรอกว่าราคาจะมีพี/อีเท่าไร “นายอารักษ์ กล่าว