คลุกวงในหุ้น : ฝรั่งขายเหมือนเลิกเล่น

โดย …สุนันท์ ศรีจันทรา

นานแล้วที่ไม่ได้เห็นนักลงทุนต่างชาติ ถล่มขายหุ้นอย่างหนัก โดยวันเดียวขายสุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นวันที่ 11 ต.ค.2561 และทำให้ดัชนีหุ้นทรุดลงเกือบ 40 จุด หลุด 1700 จุดอีกครั้ง

บรรยากาศการซื้อขายหุ้นวันที่ 11 ต.ค. เป็นหนังคนละม้วนกับวันที่ 10 ต.ค. 2561 ซึ่งตลาดเริ่มฟื้นคืนสู่ความคึกคัก ดัชนี ฯ พุ่งทะยานกว่า 24 จุด ผ่านทะลุ 1,700 จุด อย่างง่ายดาย แต่เพียงข้ามคืน สถานการณ์ปรับเปลี่ยนโดยที่นักลงทุนไม่มีโอกาสตั้งตัว

ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่า 3.4% ทำให้นักลงทุนพากันเทขายหุ้นในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งทรุดลงกว่า 830 จุด และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกยังฝั่งตะวันออก

กระดานหุ้นทั้งโลกแดงฉาน

นักลงทุนต่างชาติ ไม่ได้เทขายหุ้นเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ เพื่อโยกเงินไปลงทุนในพันธบัตรเท่านั้น แต่ขายในทุกตลาดทั่วโลก ขนเงินกลับสหรัฐ

สำหรับตลาดหุ้นไทย ถูกถล่มหนักติดต่อนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม โดยต่างชาติขายวันละหลายพันล้านบาท จนเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2561 ขายเทกระจาดออกมาอีก 10,562 ล้านบาท

ยอดขายสุทธิสะสมของต่างชาติ นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 239,291.66 ล้านบาท และคาดว่า ปีนี้ ยอดขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ จะพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ตัวเลขจีดีพีครึ่งปีแรก ที่เติบโต 4.8% ไม่อยู่ในสายตาของต่างชาติ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ได้จูงใจให้ต่างชาติกลับมาลงทุน

คำยืนยันเศรษฐกิจ กำลังฟื้นตัวจากรัฐบาลและบรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติได้

แรงขายหุ้นของต่างชาติจึงไหลทะลักมาตลอดเวลา ไม่ว่าสถานการณ์การลงทุนจะเป็นอย่างไรก็ตาม

การเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นต้นปีหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า จะเป็นปัจจัยบวก กระตุ้นต่างชาติกลับมาลงทุนนั้น พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีความหมายใด จะมีเลือกตั้งหรือไม่ การขายหุ้นยังดำเนินต่อไป และไม่มีสัญญาณที่จะหยุดขาย

ส่วนการขนเงินกลับมาลงทุนใหม่ ต้องเลิกฝันกันไประยะหนึ่ง

ปัจจัยลบที่นักลงทุนทั้งโลกกำลังเผชิฯญอยู่คือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น

และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะสงบศึกกันง่าย ๆ

แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และสงครามการค้า กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงการลงทุน และกดดันตลาดหุ้น จนแทบไม่มีโอกาสดีดตัวขึ้น หรืออาจปรับตัวขึ้นในบางช่วงเวลา แต่สุดท้ายก็ต้องปรับฐานลงมาใหม่

ดัชนีฯ พยายามจะตีฝ่าระดับ 1,750 จุด มาหลายครั้งแล้ว แต่โผล่พ้น 1,700 จุด ได้ไม่ไกล ต้องถอยหลังตั้งหลักมาทุกครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ ซึ่งไม่อาจประเมินได้ว่า จะถอยหลังไปตั้งหลักระดับไหน

นักลงทุนรายย่อย ครองความเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในรอบนี้ แต่ยิ่งช้อนซื้อ หุ้นยิ่งลง จึงต้องแบกต้นทุนหุ้นราคาสูงกันตามระเบียบ

ราคาหุ้นทรุดลงมาลึกขนาดนี้ ยั่วให้ช้อนซื้อเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่า มรสุมยังไม่สงบ ฝุ่นยังตลบในตลาดหุ้น จนมองไม่เห็นทิศทางว่า ในระยะสั้นชนิดวันต่อวัน ดัชนีฯ จะปักหัวลงต่อหรือดีดตัวขึ้น จึงมองโลกในแง่ดีไม่ได้ แต่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับความเสี่ยง

ทางที่ดีควรจะยืนดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะต่างชาติยังขายเทกระจาดต่อ ดัชนีฯ รอบนี้อาจไหลลงลึกกว่าที่คิด

และถ้าดูจากแรงขายของต่างชาติ ในเดือนตุลาคมแล้ว มีลักษณะเหมือนการขายล้างพอร์ต ขายเหมือนจะเลิกเล่นหุ้น

ฝรั่งทิ้งหมัดหนัก ๆ อย่างนี้ รายย่อยยังกล้าสวนอีกหรือ เพราะแม้แต่กองทุน เมื่อวานนี้ยังต้องหลบหมัดเลย