KBANK-SCB หวั่นส่งออกต่ำเป้า ฉุดเศรษฐกิจปี 61-62

ช็อค!สงครามการค้าพ่นพิษ ทุบส่งออกเดือนก.ย.พลิกติดลบ 5.2% ไทยส่งไปจีนหดตัว 14.1% ส่งสัญญาณปีนี้โตไม่ถึงเป้าหมาย กระทบเศรษฐกิจปี 2561-2562 แรงผิดหวังส่งออกหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ฉุดหุ้นร่วง 9.35 จุด เงินบาทอ่อนค่า

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า การส่งออกในเดือน ก.ย. 2561 หดตัว 5.2% พลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน มาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำที่หดตัวค่อนข้างมาก เมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำออกแล้ว การส่งออกหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -0.8%

นอกจากนี้ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มทยอยส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ซึ่งการส่งออกของไทยที่อ่อนแรงลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาคที่ชะลอลง

การส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2561 มีมูลค่าเฉลี่ย 21,081 ล้านดอลลาร์ฯต่อเดือน ขยายตัวเฉลี่ย 8.1% ดังนั้น มูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้าย จะต้องอยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 22,600 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวที่ 11.0% จึงจะทำให้การส่งออกทั้งปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ย 8.8% ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้ ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้า และทิศทางชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ทางด้านศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ส่งออกในเดือนก.ย.ติดลบ 5.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโต 5.6% ค่อนข้างมาก และผลกระทบจากสงครามการค้ามีความชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโตต่ำกว่าที่ประมาณการเดิมที่ 8.5% และอาจส่งผลถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าได้ ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 9 เดือน เติบโต 8.1% และเกินดุลการค้าอยู่ระดับสูงถึง 2,838.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“จับตาสงครามการค้าทวีความรุนแรง และจะยังมีผลกระทบอีกระลอกจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 24ก.ย.ที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป นอกจากที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 6 ก.ค. และ 23 ส.ค. นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าด้วยเช่นกัน

สงครามการค้าส่งผลชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนก.ย.หดตัวสูงถึง 14.1% โดยเฉพาะสินค้าที่จีนถูกตั้งภาษีนำเข้าจากสหรัฐหดตัวชัดเจน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า และส่วนประกอบอุปกรณ์ตู้เย็น-ตู้แช่แข็ง ซึ่งมูลค่าการส่งออกไปจีนหดตัว 50.8% และ 78.9% ตามลำดับ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังจีนหดตัว 13.4%

ขณะที่การนำเข้าเดือนก.ย.ขยายตัว 9.9% ชะลอลงจากการเติบโต 22.8% ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เติบโตเพียง 11.5%% ชะลอลงจาก 37.6% และหมวดสินค้าทุนที่หดตัว 5.8% พลิกจากที่ขยายตัว 6.2% โดยเป็นการลดลงของเครื่องบินและส่วนประกอบ 80.2% เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเติบโตเร่งขึ้นที่ 50.5% จาก 33.8% รวมการนำเข้าในช่วง 9 เดือนเติบโต 15.2% คาดทั้งปีนี้จะขยายตัว 15% จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมถึงการนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในปี 2562 จะเผชิญความท้าทายทั้งเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมัน และสงครามการค้า โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ 8% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 9%

ตัวเลขส่งออกที่พลิกล็อคมาติดลบ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นชัดเจน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พลิกจากบวกเป็นติดลบกว่า 13 จุด ก่อนปิดที่ 1,658.56 จุด ติดลบ 9.35 จุด หรือ 0.56% มูลค่าการซื้อขายรวม 40,735.29 ล้านบาท สวนทางกับตลาดหุ้นหลายแห่งในเอเชีย ส่วนค่าเงินบาทก็อ่อนตัวลง ปิดตลาดที่ระดับ 32.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ