แรงเชียร์ BGRIM แน่น ชี้เป้าเกิน 33 บาท จุดเด่นรุกงานตปท.

นักวิเคราะห์อย่างน้อย 4 ราย แนะนำ”ซื้อ” หุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) โดยบริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเชีย เวลท์ ให้ราคาเป้าหมาย 33 บาท บล.หยวนต้าให้ 34.25 บาท และบล.กรุงศรีให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในราคาหุ้นละ 34 บาท ขณะที่บล.เคจีไอเลือกเป็นหุ้นเด่น มีโอกาสโตมากจากโครงการลงทุนต่างประเทศ

บล. เอเชียเวลท์ เลือก BGRIM เป็น Top Pick ของกลุ่มโรงไฟฟ้า มีมุมมองเป็นบวกต่อการประชุมนักวิเคราะห์ในวันศุกร์ 26 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา จากกลยุทธ์เน้นขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศช่วยให้สามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกกว่า 1,081 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 53% เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตติดตั้งในปัจจุบัน จึงคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 และ 2562 เท่ากับ 2,833 ล้านบาท และ 3,380 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 33% และ 19% ตามลำดับ

ทางด้านผลการดำเนินงานงวดไตรมาส3/2561 คาดกำไรสุทธิ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และพุ่งขึ้น 650% จากไตรมาส 2 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 225 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนออก คาดว่าบริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากระยะเดียวกันปีก่อนแต่ลดลง 7% จากไตรมาส 2 เหตุผลที่ชะลอตัวลงเกิดจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

สาเหตุที่กำไรปกติไตรมาส 3 ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เกิดจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 4 (ABPR 4) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ในวันที่ 1 มิ.ย. 2561 การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้า บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 23.58 เมกะวัตต์ จากเดิม 49% เป็น 100% ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2561

บริษัทมองโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศจำกัด เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของไทย ณ เดือน พ.ค.2561 ที่ 28,600 เมกะวัตต์ ยังต่ำกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศประมาณ 40% บริษัทจึงหันไปเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Xuan Cau กำลังการผลิตไฟฟ้า 420 เมกะวัตต์ ขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen กำลังการผลิตไฟฟ้า 257 เมกะวัตต์ คาดสร้างเสร็จก่อนกำหนด COD วันที่ 30 มิ.ย. 2562 ช่วยลดความเสี่ยง หากก่อสร้างไม่ทันตามกำหนด หน่วยงานที่กำกับอาจปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าลงจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 0.0935 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ kWh

นอกจากนี้ บริษัทบีกริมฯยังมีแนวโน้มการดำเนินงานเติบโตโดดเด่น โครงการในมือที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกกว่า 1,081 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 53% เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งในปัจจุบันกว่า 2,045 เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัทยังมีโอกาสลงทุนในเวียดนามเพิ่มเติม ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงโรงไฟฟ้าแบบ SPP ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

บล.หยวนต้า แนะนำ “ซื้อ” พร้อม Upside จากโรงไฟฟ้าในสนามบินอู่ตะเภา SPP ขนาด 80 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ 15 เมกะวัตต์ และ Energy storage (ESS) ขนาด 50 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่รวมในประมาณการ

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 คาดกำไรสุทธิ 826 ล้านบาท จากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 370 ล้านบาท หากตัดรายการพิเศษ คาดกำไรปกติที่ 456 ล้านบาท ลดลง 18% จากไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีหากกำไรออกมาตามที่คาด กำไรรวม 9 เดือน คิดเป็น 76% ของประมาณการทั้งปี 2561 ที่ 2,000 ล้านบาท ทำให้ความเสี่ยงไม่ถึงประมาณการจำกัด

บล.หยวนต้ามองว่า BGRIM มีโอกาสได้โรงไฟฟ้าพลังงานลมและ Conventional อย่าง IPP และ SPP เพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ที่ทำงานในเวียดนามเกือบ 20 ปี บริษัทฯ ได้โครงการโซลาร์ 2 แห่งในปีนี้ Xuan Cau และ Phu Yen ขนาด 420 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าในเวียดนามถือว่ามีความโดดเด่นเหนือภูมิภาค CLMV จากเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 6.5-7.0% ต่อปี โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม สำรองมีไม่เพียงพอ พลังงานที่ขาดเสถียรภาพ คาดว่าโอกาสเกิดโครงการ IPP และ SPP เพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ IMF คาดการณ์จำนวนประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 102 ล้านคนภายในปี 2568 สะท้อนความต้องการใช้พลังงานมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและโรงไฟฟ้าพลังงานลมมีกำลังสูงถึง 30-40% และต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ IRR โครงการค่อนข้างสูง นอกจากนี้รูปแบบสัญญา PPA นานถึง 20 ปี และเงื่อนไขคล้ายของไทย

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรไตรมาส 3/2561 ในกลุ่มไฟฟ้ามี 2 บริษัทคือ CKP และGUNKUL ที่มีกำไรดีขึ้น แต่มองว่าธุรกิจไฟฟ้าในประเทศมีโอกาสจำกัด จึงชอบหุ้นโรงไฟฟ้าประเภท conventional มากกว่าหุ้นพลังงานหมุนเวียน เพราะมีศักยภาพในการขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้มากกว่า เลือก BGRIM และ EGCO เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม เพราะมองว่ามี upside จากโครงการลงทุนในต่างประเทศ