กสิกรฯชี้เป้าหุ้น 1,665-1700 จุด

บล.กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์นี้ ให้แนวรับแรก 1,665 แนวต้าน 1,700 จุด ติดตามการประชุมเฟด เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นวิ่งแรง ได้แรงซื้อจากสถาบันในประเทศ แลกมัดขายของต่างชาติ ส่วนค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยให้กรอบสัปดาห์นี้ 32.60-33.00 บาท

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย คาดการณ์หุ้นในสัปดาห์ถัดไป (5-9 พ.ย.2561)มีแนวรับที่ 1,665 และ 1,650 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (7-8 พ.ย.)การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ และประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคญอื่น ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น( BOJ) ดัชนี PMI Composite เดือนต.ค.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนต.ค.ของจีน

สำหรับตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ระดับ 1,681.84 จุด เพิ่มขึ้น 3.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 13.65% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 48,160.85 ล้านบาท

ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพิ่มขึ้น 2.88% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 425.62 จุด

“ดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ ตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังในประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันตลอดสัปดาห์ แม้ว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิก็ตาม”บล.กสิกรไทยระบุ

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์ถัดไป ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ตามทิศทางเงินเอเชียและเงินหยวน หลังมีข่าวว่า สหรัฐฯ เตรียมวางแผนเรียกเก็บภาษีสินค้า
นำเข้าจากจีนรอบใหม่ และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย. ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงกดดัน สวนทางภาพการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความหวังต่อผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ-จีน

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พ.ย.เงินบาทปิดที่ 32.77 เทียบกับระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ต.ค.)