โบรกฯ แนะเพียง “ถือ” KTB อัพไซด์จำกัด

บล.โนมูระ พัฒนสิน-ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำเพียง “ถือ” KTB หลังพบผู้บริหารไม่มีประเด็นใหม่ ด้านอัพไซด์หุ้นจำกัด CNS ให้ราคาเป้าหมาย 21 บาท “ดีบีเอส วิคเคอร์ส” ให้ 20.40 บาท

บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน (CNS) มีมุมมอง Neutral ต่อการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. เนื่องจากยังไม่มีประเด็นใหม่เพิ่มเติม โดยสินเชื่อใน 9 เดือนแรก ปี 2561 โตต่ำเพียง +2% จากต้นปีที่ผ่านมา เพราะสินเชื่อ Corporate และ SME ที่ลดลง ธนาคารจึงคาดสินเชื่อในปีนี้จะโตต่ำ แต่ KTB คาดจะกลับมาโตดีขึ้นในปีหน้าจากการรุกสินเชื่อ retail มากขึ้น

ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าปีก่อน จากความพยายามในการแก้ปัญหา NPL ดังนั้นการตั้งสำรองจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคารคาดการตั้งสำรองเฉพาะในส่วนของธนาคาร ในปีนี้จะมี credit cost ไม่เกิน 120 – 125 bps และในปี 2562 ธนาคารคาดยังสามารถแก้ปัญหาคุณสินทรัพย์ได้จึงตั้งเป้า credit cost ไม่เกิน 120 – 125 bps เช่นกัน (ยังไม่รวมประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการชำระหนี้ของ AQ)

สำหรับประเด็น AQ นั้น KTB ยังไม่ได้ให้ความชัดเจน เนื่องจากด้านคดีความที่มีความซับซ้อน โดย CNS ลองทำสมมติฐานกรณีที่ได้รับชำระหนี้ 8.4 พันล้านบาท และบันทึกเป็นกำไรทั้งจำนวน จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ที่ CNS คาดอยู่ที่ 30,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มี upside 22% และมีผลต่อราคาเป้าหมายที่เพิ่มจาก 21 เป็น 21.7 บาท จากคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/61 โตเด่นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการตั้งสำรองที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงประเด็นบวกจาก AQ ที่อาจทำให้ประมาณการของ CNS มี upside ที่คาดจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/62 ทำให้ KTB น่าสนใจ อย่างไรก็ตามจาก upside จากราคาเป้าหมายที่จำกัด จึงแนะนำเพียงเก็งกำไร ที่ราคาเป้าหมายปี 2562 อยู่ที่ 21 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” KTB ราคาเป้าหมาย 20.40 บาท/หุ้น เทียบเท่ากับ P/BV ปี 62 เท่ากับ 0.9 เท่า คาดการณ์ Dividend Yield ปี 61/62 เท่ากับ 3.9%-4.2% โดยมองการปรับโครงสร้าง NPL เป็น Upside

สำหรับกำไรงวดไตรมาส 3/61 หนุนโดยการตั้งสำรองฯ ลดลง แต่กำไรจากการดำเนินงานอ่อนแอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงและรายได้ลดลง ซึ่งมาจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่รุนแรงขึ้น ส่วนทางด้านต้นทุนการเงินนั้นสามารถบริหารจัดการได้เพราะมีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) สูงถึง 72-73% ของทั้งหมด ส่วนการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินออนไลน์กระทบ KTB น้อยกว่าธนาคารใหญ่อื่นๆ

สำหรับแนวโน้มค่าใช้จ่ายดำเนินงานยังคงสูงไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องลงทุนในระบบไอที โดย KTB ตั้งงบประมาณลงทุนส่วนนี้ไว้ 1 หมื่นล้านบาท/ปี โดย 85% เป็นเงินลงทุนที่บันทึกเป็นสินทรัพย์และอีก 15% เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย

NPL ratio ลดลงใน 3Q61 แต่ NPL formation เพิ่มเป็น 1.3% ในสิ้นก.ย.61 (จาก 1.23% ในสิ้นมิ.ย.61) จาก NPL กลุ่มเกษตรเพิ่มขึ้น ผู้บริหารคาดว่า NPL ratio จะอยู่ใกล้ๆ 4.4% ในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้มี NPL ที่รอการปรับโครงสร้าง/Write off จำนวนมากเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน IFRS9

ส่วนปี 62 เน้นขยายสินเชื่อรายย่อย ส่วนสินเชื่อภาครัฐยังเติบโตต่อเนื่อง สำหรับ 9 เดือนปี 61 สินเชื่อเติบโต 2.2% จากต้นปี โดยหลักมาจากสินเชื่อภาครัฐและรายย่อย สำหรับปี 62 ผู้บริหารเชื่อว่าสินเชื่อรายย่อยยังเป็น Key growth ต่อ ขณะที่สินเช่ารายใหญ่มีแนวโน้มดีขึ้น ด้านสินเชื่อ SME จะไม่เน้นมากนัก แต่ก็ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจปี 62 ด้วย

ด้าน NIM มีแนวโน้มขยับขึ้นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่กลับเป็นขาขึ้นในปีหน้า โดยยังตั้งสำรองฯสูงในปี 62 เพื่อรองรับ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้ 1 ม.ค.63 ส่วนที่เป็น Upside risk คือ ความสำเร็จในการปรับโครงสร้าง NPL สินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งผู้บริหารคาดว่าจะมีนัยสำคัญในปีหน้า

ราคาหุ้น KTB ณ เวลา 11.10 อยู่ที่ 20 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ -1.96% มูลค่าการซื้อขาย 508.64 ล้านบาท