TPCH แรง 5% รับกำไรกระฉูด 250%

หุ้นทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้งฮอต โกยกำไร 91 ล้านบาท ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 หลังหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ทุกโครงการผลิตเต็มกำลัง รอใบอนุญาตขยะชุมชน เสนอขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์

เช้าวันที่ 8 พ.ย. 2561 นักลงทุนให้ความสนใจซื้อขายหุ้นบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นแรง 5.71% บวก 0.60 บาท ซื้อขายที่ 11.10 บาท มูลค่าการซื้อขายกว่า 50 ล้านบาท หลังจากบริษัทเปิดเผยผลงานไตรมาสที่ 3/2561 มีกำไรสุทธิ 91.93 ล้านบาท โตก้าวกระโดดจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเพียง 26.22 ล้านบาท เติบโต 65.71 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 250% และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2/2561 ที่มีกำไรสุทธิ 90.35 ล้านบาท จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7.12 ล้านบาทหรือ 1.8% เป็นจำนวน 402 ล้านบาท

ส่วนผลงานรวม 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133 ล้านบาท คิดเป็น 102% จากที่มีกำไรสุทธิ 130 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 รายได้จากการขายไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 7.12 ล้านบาทหรือ 1.8% จากโรงไฟฟ้ามีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจําหน่ายเชิงพาณิชย์เต็มกำลัง ถึงแม้จะมีโรงไฟฟ้า CRB และ MWE หยุดเดินเครื่องซ่อมบํารุงเครื่องจักรตามแผนประจําปีก็ตาม

บริษัทมีการจําหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น 6 โครงการ และมีโอกาสได้รับใบอนุญาตใหม่ จากการดำเนินงานที่สอดคล้องต่อแนวโน้มนโยบายของภาครัฐในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงที่แสดงให้เห็นได้จาก Sale Capacity factor เฉลี่ยของทุกโครงการมากกว่า 93% สะท้อนถึงความพร้อมในการผลิตกระแสไฟฟ้าในรูปแบบโรงไฟฟ้าหลัก (Base Load) ได้ นอกจากนั้นเรื่องการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่บริษัทได้สรรหากลยุทธิ์และเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริม และการยอมรับจากชุมชน

ส่วนโครงการที่รอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า บริษัทมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ (SP)กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 9.5 เมกะวัตต์เสนอขายขนาด 8 เมกะวัตต์ จําหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวงในระบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามความพร้อมภายในวันที่ 30 เม.ย. 2562 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 28 ส.ค. 2562 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD)ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ภายใต้สัญญาก่อสร้างและบริหารจัดการระบบการนําขยะมูลฝอยจากหลุมฝังกลบมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสําหรับการผลิตไฟฟ้าปริมาณ 3 ล้านตัน เป็นเวลา 23 ปี เริ่มต้นสัญญา เมื่อเดือนพ.ค.2558 สามารถนํามาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ(RDF)ได้ปริมาณขยะ RDF ประมาณ 1.35 ล้านตัน ที่ให้ค่าความร้อนเฉลี่ย3,155.93 kcal/kg นอกจากนี้ยังมีบ่อขยะฝังในพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งสามารถนํามาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDFได้ประมาณ 0.36 ล้านตัน โดยปริมาณเชื้อเพลิงขยะสามารถนํามาใช้ได้รวมระยะเวลา 27 ปี