2 ปี มหากาพย์ IFEC ยืดเยื้อ : คนไม่มีหุ้นจ้องฮุบอำนาจ รอนสิทธิ์รายย่อย

เรื่องราววุ่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC ) ถือเป็นมหากาพย์ ที่ลากยาวมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ฝากรอยร้าว ย้ำเตือนให้กับนักลงทุนที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ ต้องมาติด “กับดัก” หุ้นถูกตลาดหลักทรัพย์ แขวนป้าย SP มายาวนาน ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 จนถึงขณะนี้ ยังไร้วี่แวว ว่าจะได้กลับเข้ามาเทรดอีกครั้งในช่วงเวลาไหน

แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่ IFEC ไม่ถูกลากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากการวางแผนของกลุ่มบุคคล ภายใต้ฉากหลังของ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC และนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหน้าที่บริหาร IFEC ซึ่งทั้งสองถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ ดำเนินคดีทางแพ่ง และอาญา พร้อมกับให้ออกจากตำแหน่ง และห้ามเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 2 ปี

โดยนายวิชัย ถูกสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 กรณีกระทำโดยทุจริต โดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น โดยใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายศุภนันท์ ถูกสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษ นายศุภนันท์ โทษฐานขัดขวางการประชุมผู้ถือหุ้น และใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น และให้พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2561

เนื่องจากทั้ง 2 คน จัดฉากสร้างเจ้าหนี้หุ้นกู้เทียม และไปยอมประนอมหนี้หุ้นกู้ ซึ่งตัวละครแต่ละคน ล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติของนายวิชัย ซ้ำร้ายยังวางแผนยกอำนาจให้นายศุภนันท์ เป็นผู้บริหารแผน

โชคดีที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจับทางหนีทีไล่ทัน แผนลาก IFEC ออกจากตลาดฯก็อันเป็นพังไม่เป็นชิ้นดี เนื่องจากศาลล้มละลายกลาง ยกคำร้องขอฟื้นฟู IFEC เนื่องจากนายศุภนันท์ ไม่สามารถเป็นผู้ทำแผน

เรื่องราวแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับ IFEC ตลอดห้วงเวลา 2 ปี การต่อสู้ของนักลงทุนรายย่อย ในฐานะเจ้าของ บริษัทตัวจริง ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมของอดีตผู้บริหาร ที่อ้างตัว ขออาสาเข้ามา “ปัดกวาดบ้าน” แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นคนที่จ้องที่จะ “ทำลายบ้าน” บ้านที่นักลงทุนรายย่อย คาดหวังเป็นแหล่งสร้างผลตอบแทน สำหรับเงินลงทุน ไว้ใช้สำหรับวัยเกษียณ

บ้างเป็นลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการเกษียณ มีแม้กระทั่งคนตาบอด ที่เก็บงำเงินก้อนสุดท้าย เพื่อลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบ การรายงานข้อมูล ที่เรียกได้ว่าเข้มข้น แต่ท้ายที่สุด ด้วยกลโกงของโจรในเสื้อสูท ที่ใช้ “วิชามาร” อาศัยช่องว่า ทางกฎหมาย ลิดรอนสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นในการตรวจสอบ ประเด็นการทุจริตโรงไฟฟ้าในกัมพูชา โรงแรมดาราเทวี หรือแม้แต่การใช้สิทธิ์ตามอำนาจของผู้ถือหุ้น เพื่อจัดให้มีการจัดประชุม เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เพื่อให้เข้ามาบริหาร และฟื้นฟูกิจการของบริษัท ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

แต่จนแล้วจนรอด ตลอดช่วงเวลา 2 ปี ของการเรียกร้องจัดประชุมให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายถูกขัดขวาง โดยกระบวนการ โจรในเสื้อสูท ซึ่งปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ “ไม่มีหุ้น” IFEC ในมือแม้แต่คนเดียว

หรือแม้แต่ บรรดา “ซุปเปอร์ฮีโร่” ที่นั่งเป็นกรรมการ IFEC ต่างก็ไม่มีหุ้นในมือเช่นเดียวกัน อ้างเสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหา และตรวจสอบทุจริต แต่สุดท้ายก็พยายามประวิงเวลา “คืนอำนาจผู้ถือหุ้น” เช่นเดียวกัน เรื่องง่าย ๆ บางเรื่องกลับโยน ให้หน่วยงานกำกับตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นสำนักก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทวงพาณิชย์ ลามไปถึงต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาตีความ

แค่เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ยังส่งรายชื่อไปให้สำนักงานก.ล.ต. เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยตรง ไม่เกี่ยวกับก.ล.ต. แทนที่จะเร่งกำหนดวันจัดประชุม เลือกตั้งควบคู่กันไป เพื่อให้ทุกอย่างจบโดยเร็ว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งปล่อยให้ยืดเยื้อออกไป ยิ่งทำให้สถานะทางการเงินแย่ลง กระทบกับความเชื่อมั่นคู่ค้า และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

จนถึงขณะนี้ 2 ปี ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 คน และ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กำลังนับถอยหลังหมดวาระลง เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 2 กำลังจะถูกแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ปัญหา IFEC ยัง “ไร้ทางออก”

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เด็ดขาดของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ที่ปล่อยให้ปัญหาลากยาวมาถึงเพียงนี้ การไม่กล้าตัดสินใจ การโยนปัญหาให้แต่ละหน่วยงานตีความ “ลอยแพ” ผู้ถือหุ้น ปล่อยให้กลุ่มบุคคลที่ไม่มีหุ้น ยึดอำนาจการบริหาร ผูกขาดความชอบธรรม และขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ

ถามว่า หากยังคงปล่อยให้สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ แล้วใครจะกล้าเข้าลงทุนตลาดหุ้นไทย

ปิดฉาก “ศรีธนญวิชัย”

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2561) ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ ตลาดทุนไทย ที่ 2 บริษัทหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำนวน 53.55 ล้านหุ้น ออกมา ประมูลขายทอดตลาด

ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ พ.2167/2561 ว่า บริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง มีสิทธินำหุ้นของนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ที่จำนำไว้เป็นประกันตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งออกขายทอดตลาดได้ โดยการบังคับจำนำเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องคดีให้มีคำพิพากษาก่อน ในราคาเริ่มต้นที่ 2.20 บาท ประมูลเพิ่มไม่น้อยกว่า 0.02 บาท/หุ้น

ถือเป็นการปิดตำนาน “ศรีธนญวิชัย” ผู้ที่ไม่เหลือหุ้น IFEC ในมือแม้แต่น้อย แต่ยังสามารถสร้างรอยร้าวให้กับผู้ถือหุ้นกว่า 3 หมื่นราย ต้องทนรับชะตากรรม กับความยึดมั่นในอัตตา ความละโมบ จ้องที่จะฮุบสมบัติของบริษัท ขัดหลักจรรยาบรรณ ที่พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงกล่าวไว้ ว่า

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์”