กสิกรชี้เป้า BJC 60 บาท -เมย์แบงก์ 65 บาท

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์พบนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ”ซื้อ”บล.กสิกรไทยและบล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ปรับลดราคาเป้าหมายและประมาณการกำไรปี 2562 คาดธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโต

บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย ยังคงแนะนำซื้อหุ้นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ( BJC) แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 62 บาท เป็น 60 บาท เพื่อสะท้อนการปรับประมาณการและปรับปีฐานราคาเป้าหมายเป็นสิ้นปี 2562 จากกลางปี 2562

เรามีมุมมองบวกต่อ BJC จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ฟื้นตัวขึ้นและผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องของธุรกิจ consumer supply chain และธุรกิจสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค

นอกจากนี้ คาดว่าการออกนโยบายบัตรคนจนถอนเงินสดได้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำของรัฐบาลจะส่งผลทางอ้อมกับผู้ค้าปลีกเครื่องเขียน เช่น บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

ขณะเดียวกัน มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-2563 ขึ้น 1.8%/-4.3%/-4.7% จากการเปลี่ยนแปลงของ effective tax rate และ gross margin ที่ต่ำกว่าคาดจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) แนะนำ”ซื้อ”หุ้น BJC ราคาเป้าหมายใหม่ 65 บาท จากการประชุมนักวิเคราะห์ คาดกำไรไตรมาส 4 เติบโตดีทั้งไตรมาสก่อนหน้าและระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากลูกค้าบรรจุภัณฑ์กระป๋องกลับมาสั่งซื้อหลังชะลอไปในไตรมาส 3 การขยายกำลังการผลิตขวดแก้วทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ธุรกิจค้าปลีกเข้าสู่ไฮซีซั่น แม้เราปรับลดประมาณการลงจากธุรกิจกระป๋องที่ชะลอตัวชั่วคราว แต่โดยรวมคาดกำไรของ BJC ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้งมีอัพไซด์จาก WG โดยคาดผลตอบแทนที่ได้รับจาก บริษัท ไว้ท์กรุ๊ป (WG) จะชดเชยดอกเบี้ยจ่ายได้ทั้งหมด

เราปรับประมาณการกำไรปกติปี 2561-2562 ลง 6% และ 3% ตามลำดับ สะท้อนถึงยอดขายกระป๋องที่ชะลอตัวในไตรมาส 3 คาดธุรกิจฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ยังไม่รวมการเข้าซื้อ บริษัท ไว้ท์กรุ๊ป (WG) ในประมาณการ โดยคาดว่าการ Tender Offer จะเสร็จในกลางเดือน ม.ค. 2562 เบื้องต้นประเมินว่า หากเข้าถือหุ้น WG 100% จะทำให้กำไรของ BJC เพิ่มขึ้นราว 1% จากการที่ WG มีรายได้ 1,100 ล้านบาท กำไร 138 ล้านบาท เม็ดเงินที่ใช้ซื้อ WG ทั้งหมด 3,213 ล้านบาท มาจากการกู้ยืม คาดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนเพิ่มขึ้นจาก 1.28 เท่า เป็น 1.30 เท่า อีกทั้งทำให้ BJC กลายเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมรายใหญ่ 1 ใน 3 ของไทย

“ปริมาณขายกระป๋องยังมีแนวโน้มเติบโตในปีหน้า เนื่องจากลูกค้ากลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังส่งออกเพิ่มขึ้นและมีการเปลี่ยนขนาดกระป๋อง ธุรกิจขวดแก้วได้ผลบวกจากการขยายกำลังการผลิตขวดแก้ว (เตา 5) 400 ตัน/วัน ตั้งแต่ 13 ก.ย. และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 100% ในวันที่ 1 พ.ย. ขณะที่มีการปิดเตา 1 (280 ตัน/วัน) เพื่อรอปรับปรุงใหญ่แต่ไม่กระทบมากเนื่องจากเป็นเตาเล็ก ทำให้กำลังการผลิตรวมเป็น 3,155 ตัน/วัน ประสิทธิภาพการผลิตของเตา 4 และ 5 ที่ค่อนข้างดีสามารถชดเชยกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น โรงงานแก้วในมาเลเซียกลับมาผลิตแล้วในไตรมาส 4 หลังสายการผลิตขัดข้องตั้งแต่ ไตรมาส 2 ส่วนธุรกิจค้าปลีกยังขยายตัวได้ดี” บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯระบุ