ตลาดฯ ยันไอพีโอสู้ไม่มีถอย 16 บจ.ใหม่เกินครึ่งถอยหลังต่ำจอง

หุ้นร่วงหุ้นซึม ตลาดหลักทรัพย์ยัน ยังไม่มีบริษัทใดแจ้งเลื่อนเข้าจดทะเบียน ปีนี้ เกือบ 11 เดือน เข้าเทรดแค่ 16 บริษัท มูลค่าตามไอพีโอเฉียด 1.7 แสนล้านบาท บจ.น้องใหม่เกินครึ่ง ราคาร่วงต่ำกว่าจอง ลุ้นบริษัทที่ประกาศขายไตรมาส 4 เดินหน้า CHIC-STI ส่วน SAAM-CAZ นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดแจ้งขอเลื่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากปัจจุบันมีหุ้นใหม่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมมูลค่าตามราคาไอพีโอประมาณ 1.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเป้าหมายในการเสนอขายหุ้นไอพีโอและบริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนทั้งหมด 5.5 แสนล้านบาทในปี 2561

รองผู้จัดการกล่าวว่า มีบริษัทที่อยู่ในกระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์พอสมควร แต่จะเข้าเมื่อไรตอบไม่ได้ หุ้นที่พร้อมจะเข้าจดทะเบียน มี 3 ปัจจัย คือ 1 ภาวะตลาดหุ้น 2 ความต้องการใช้เงินตามแผนงานที่วางไว้ และ 3 ความพร้อมของบริษัท ทั้งข้อมูลไฟลิ่ง ระบบบัญชี ได้จัดเตรียมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

“เราพอกำหนดได้ในเรื่องที่ 3 เรื่องการเตรียมข้อมูล ส่วนปัจจัยที่ 1 และ 2 อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ บางครั้ง ในภาวะตลาดไม่ดี บริษัทจำเป็นต้องการใช้เงิน ก็อาจจะต้องขายหุ้นก็ได้” นายแมนพงศ์กล่าว

ในปี 2561 จนถึงวันที่ 27 พ.ย. มีบริษัทเข้าใหม่ทั้งหมด 16 บริษัท มูลค่าระดมทุน 78,067 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาไอพีโอ จำนวน 169,664 ล้านบาท แบ่งเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 7 บริษัท มูลค่าระดมทุน 74,624 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาไอพีโอ จำนวน 156,621 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวน 9 บริษัท มูลค่าระดมทุน 3,442 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาไอพีโอ จำนวน 13,042 ล้านบาท โดยรวมบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) ที่ยื่นเข้าใหม่ใน SET ซึ่งเกิดจากการรวมบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเซรามิค กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ของกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีบริษัทเข้าใหม่น้อยกว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2557-2560) ที่มีบริษัทใหม่ใน SET จำนวน 17 บริษัท 23 บริษัท 11บริษัท และ 22 บริษัทตามลำดับ เช่นเดียวกับบริษัทเข้า mai จำนวน 20 บริษัท 13 บริษัท 13 บริษัทและ 17 บริษัท สาเหตุหนึ่งเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย และบริษัทมีผลกำไรน้อยกว่าที่คาดการณ์ จึงต้องขยายระยะเวลาในการเข้าจดทะเบียน

สำหรับบริษัทที่ประกาศว่าพร้อมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในไตรมาส 4/2561 ได้แก่ บริษัท ชิค รีพับบลิค (CHIC) ศูนย์รวมจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน อย่างครบวงจร ในรูปแบบร้านค้าเดี่ยวขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ ชิค รีพับบลิค (CHIC) และ ริน่า เฮย์ (RINA HEY) เตรียมเสนอขายไอพีโอจำนวน 360 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ (STI) ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้างและให้บริการออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม, งานตกแต่งภายใน และงานอนุรักษ์โบราณสถาน เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอไม่เกิน 68 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท มีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ส่วนบริษัท ซีเอแซด (ประเทศไทย) หรือ CAZ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เตรียมจะเสนอขายหุ้นจำนวน 80 ล้านหุ้น มีบริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทเอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต.เริ่มนับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้ว โดย SAAM จะเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 80 ล้านหุ้น เพื่อเข้า mai คาดเดินสายให้ข้อมูลนักลงทุน (โรดโชว์) 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.หาดใหญ่ จ.สงลา และกรุงเทพมหานคร

SAAM ประกอบธุรกิจพัฒนา และลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยร่วมกับกลุ่ม BSP ภายใต้สัญญาระยะยาวจำนวน 17 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพชรบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการ SAAM-SP1 ตั้งอยู่ที่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 2 เมกะวัตต์

นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM กล่าวเสริมว่า บริษัทวางแผนระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอื่น รวมถึงใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมของสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

“บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ เน้นพัฒนาโครงการในประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย” นายพดด้วง กล่าว