โซลาร์ตรอน หายไปไหน ????

ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง

หุ้นบริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) อยู่นอกสายตานักลงทุนมาพักใหญ่แล้ว หลังถูก “หมอความงาม” และนักลงทุนรายใหญ่เทขายหุ้นทิ้งแบบไม่มีเยื้อใย ราคาหุ้นไหลลงจาก 10 บาท เหลือหุ้นละ 1.47 บาท ในช่วงปลายปีที่แล้ว

ปัจจุบันกลุ่มของ “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” เจ้าของบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เข้ามาถือหุ้น SOLAR ในสัดส่วน 41% และกลุ่มของ “อัครเดช โรจน์เมธา” ลดการถือหุ้นลงเหลือ 3.96% แต่ทว่านักลงทุนกลุ่มใหม่ยัง “รีรอ” ที่จะใส่เงินเพิ่มทุน ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทฝืดเคือง จนกระทั่ง SOLAR เกิดอุบัติเหตุทางการเงิน เพราะหมุนตั๋วเงินไม่ทัน

แต่แล้วก็มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้น SOLAR และ SOLAR ไปทำอะไรมา???? ราคาหุ้นจึงค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมาจากหุ้นละ 1.47 บาท มาเป็น 3 บาทกว่าๆ (2 พ.ค.2561) เพิ่มขึ้น 130% ในเวลาไม่ถึง 4 เดือน สวนทางกับผลประกอบการที่ขาดทุน 3 ปีซ้อน โดยปี 2560 บริษัทขาดทุน 189 ล้านบาท

“ที่โซลาร์ตรอนหายไป เราไปมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราหายไปทำแล็บตรงนี้ ไม่ได้หยุด” ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SOLAR ให้สัมภาษณ์ “ www.hoonsmart.com” พร้อมทั้งระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจทั้ง 4 เสา ทยอยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับ SOLAR แม้ว่าปีที่แล้วจะเป็นปีที่ยากลำบากมาก

สำหรับเสาแรก คือ ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์นั้น ปัจจุบันโรงานทั้ง 2 โรงของ SOLAR ที่ จ.นครราชสีมา มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 85% ของกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ต่อปี โดยบริษัทฯมุ่งผลิตแผงโซลาร์เซลล์คุณภาพสูงที่เหมาะกับอากาศร้อนชื้นในเมืองไทย และแผงเหล่านี้ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐ และไทย

“เรายังได้ร่วมมือกับพันธมิตรวิจัยแผงโซลาร์เซลล์กันน้ำ และกำลังจดอนุสิทธิบัตรทุ่นบวกแผง เพื่อรองรับความต้องการของ EGAT (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ที่จะเปิดประมูลโซล่าโฟลทติ้งทุกเขื่อน และร่วมกับผู้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคารายใหญ่ วิจัยผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในตัวด้วย”ปัทมา กล่าว

เสาที่สอง SOLAR เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ 3 พื้นที่ในจ.อยุธยา จ.อ่างทอง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังผลิตรวม 9 เมกะวัตต์ โดยได้ขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วในราคา 5.66 บาทต่อหน่วย ส่วนสาเหตุที่ SOLAR ลงทุนโรงไฟฟ้าเองนั้น นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังทำให้บริษัทรับรู้ถึงประสิทธิภาพแผงโซล่าร์เซลล์ เพื่อทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป

เสาที่สาม เป็นที่ปรึกษาด้านการสำรวจ ออกแบบ และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ให้กับโรงงานและสถานศึกษา หรือ Prosumer ซึ่งต้องการผลิตไฟฟ้าและใช้เอง เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วงไฟพีคหรือ CUT PEAK โดยได้เริ่มโครงการนำร่องไปแล้วที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ และสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้มหาวิทยาลัยได้ 30%

“เราพอใจกับค่าไฟฟ้าที่ได้รับ 4.25 บาทต่อหน่วย โดยได้ส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาระยะเวลา 25 ปี และในช่วงปลายปี 2562 จะมีการบังคับใช้ Building Energy Code ใหม่ ซึ่งกำหนดให้ตึกที่มีขนาด 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป ต้องแสดงให้เห็นว่ามีการประหยัดพลังงาน ตรงนี้จะกระตุ้นให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารมากขึ้น”ปัทมากล่าว

และเสาที่สี่ การรับจ้างบำรุงรักษาแผงผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่มีอยู่แล้วให้ภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้ SOLAR คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวม และสัดส่วนรายได้ตรงนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ปัทมา ระบุว่า หากจะทำให้รายได้ของ SOLAR เติบโตต่อเนื่อง มีความจำเป็นที่บริษัทฯต้องเพิ่มทุน โดยนายชูชาติ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เห็นด้วยกับแนวทางการเพิ่มทุนแล้ว แต่ยังไม่สรุปว่าจะใช้รูปแบบใด โดยมีความเป็นไปได้ทั้ง 3 ทางเลือก คือ PP (จัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด) PO (จัดสรรให้กับประชาชน) และ RO (จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น)

“ทางฝั่งคุณชูชาติโอเคแล้ว ให้ใช้เครื่องมือ General Mandate ได้ แต่ใครจะมา จะหาพาร์ทเนอร์คนไหน หรือมาแบบไหนต้องขออนุญาตเขาก่อน เราในฐานะฝ่ายบริหาร เราอยากได้เงิน เพราะผ่านมาเรามีปัญหาสภาพคล่อง และเราเพิ่มทุนไม่ได้ จึงต้องเป็นนกน้อยที่ทำรังแต่พอตัว แต่ก็เข้าใจผู้ถือหุ้นว่าจะมีภาระ และไม่อยากหาเงินมาเพิ่ม”ปัทมากล่าว

ปัทมา กล่าวว่า แม้ว่าในปี 2560 ยังเป็นอีกปีที่บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน แต่บริษัทสามารถประคองรายได้ไว้ที่ระดับ 1.1 พันล้านบาทได้ โดยสาเหตุของการขาดทุนมาจากการโล๊ะแผงโซลาร์เซลล์รุ่นเก่าไปขายที่อินเดีย ส่วนปีนี้บริษัทอาจยังไม่มีกำไร แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทจะเซ็นสัญญางานภาครัฐและรอรับรู้รายได้ 300 ล้านบาทก็ตาม

“ขอเวลา 2 ปี ปีนี้ ปีหน้า แล้วเราจะเทิร์นอะราว (กลับมามีกำไร) โดยเรามีศักยภาพมากพอที่จะหาตลาด เรามีโปรเจกต์เยอะมาก และถ้ามีทุนเพิ่ม เราก็ทำได้เพิ่ม”ปัทมากล่าวในตอนท้าย