BJC-GOLD ทะยานไปข้างหน้า “เสี่ยเจริญ” หนุน ดบ.ต่ำ-ขยายสาขา

ปี 2561 “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ยังคงเดินเกมซื้อกิจการหลายดีล ใช้เรือธงค้าปลีก “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” เทกโอเวอร์ ไว้ท์กรุ๊ปกรุ๊ป BJC ประกาศปีหน้ายังไปได้สวย แผ่นดินทองฯ เดินตามแผน ปี 62-63 รายได้ขยายตัวไม่น้อยกว่า 20-25% ผงาดอสังหาริมทรัพย์อันดับ 5 เผยจุดแข็งบริษัทในกลุ่ม “เสี่ยเจริญ” เครดิตดี แบงก์ยินดีสนับสนุน ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ 2-4% ต่อปี มีที่ดินเยอะ ช่วยขยายการลงทุนได้เร็ว

ในปี 2561 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซื้อบริษัท ไว้ท์กรุ๊ป (WG) จำนวน 50.24% ในราคาหุ้นละ 180 บาท เป็นเงินประมาณ 1,614.2 ล้านบาท และกำลังดำเนินการซื้อหุ้นเกือบ 50% จากประชาชนทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์)

บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ (FAS) ซึ่งบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (กลุ่มสิริวัฒนภักดี) ร่วมทุนกับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) สัดส่วน 51% และ 49% ซื้อหุ้นของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) เพิ่มขึ้น 26.10% ในราคาหุ้นละ 17.90 บาทรวม 8,570 ล้านบาท จากบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ทำให้ถือหุ้นทั้งหมด 67.05%

นอกจากนั้นกลุ่มสิริวัฒนภักดี ยังใช้บริษัท เครืออาคเนย์ ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทไทยประกันภัย (TIC) จัดตั้งบริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ โดยเครืออาคเนย์จะโอนกิจการทั้งหมดให้บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ เพื่อแลกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 730.14 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 34.241 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 25,000 ล้านบาท และจัดทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ TIC จำนวน 67.93% ในราคาหุ้นละ 34.24 บาท ถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและยื่นบริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน

ขณะเดียวกันบริษัทของเสี่ยเจริญยังซื้อที่ดินอ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการของบริษัท เอคิว เอสเตท (AQ) เนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ในราคา 8,914.07 ล้านบาท คว้าชัยชนะในการประกาศขายทอดตลาดที่ดินในคดีศาลล้มละลายกลาง

นายธนพร เตชวิวรรธน์ ผู้จัดการนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ BJC ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกลยุทธ์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ทุกธุรกิจขยายตัว และการที่บริษัทอยู่ในกลุ่มสิริวัฒนภักดี ยังมีผลต่อความน่าเชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่ง โดยมีอัตราดอกเบึ้ยเงินกู้ต่ำเฉลี่ย 3% ต่อปี โดยในปีหน้าเตรียมออกหุ้นกู้ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน มี.ค.มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.5%ต่อปี และเดือนก.ย.มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.3%

ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยที่ 1.5 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 1.37 เท่า

นอกจากนี้บริษัทยังได้รับผลดีจากกรณีกลุ่มสิริวัฒนภักดีมีที่ดินจำนวนมาก ยกตัวอย่าง ในการเปิดสาขาของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์หรือ BigC ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มสิริวัฒนภักดีมีที่ดินตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและไม่ติดหลักเกณฑ์ของทางการ ทำให้บิ๊กซีสามารถเปิดสาขาได้รวดเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ได้ซื้ออาคารบิ๊กซีสาขาอรัญประเทศ พื้นที่รวม 14,000 ตารางเมตรจาก บริษัท ทีซีซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้มีอำนาจควบคุมบริษัท)ที่ราคา 355 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียม

ส่วนกรณีที่ BJC ซื้อกิจการบริษัทไว้ท์กรุ๊ป นายธนพรกล่าวว่า เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเป็นอย่างมาก ไว้ท์กรุ๊ปเป็นผู้นำในการนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมี ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและตลาดให้ BJC นอกจากนี้ไว้ทกรุ๊ปยังมีคลังสินค้าและสำนักงาน บนถนนบางนา-ตราด ตั้งอยู่ใกล้กับบริษัท สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

นายรามี บีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดเผยในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน “Opportunity Day” ว่า แนวโน้มการดำเนินงานปี 2562 ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน เบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวของทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจค้าปลีก BIGC ธุรกิจแก้วกระป๋อง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจเวชภัณฑ์เทคนิค โดยเฉพาะการขยายสาขาของ BigC และการออกสินค้าใหม่ ในธุรกิจอุปโภคบริโภค ช่วยเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาด

ส่วนธุรกิจแก้วกระป๋อง มีความต้องการต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเดินเครื่องเตาหลอมแก้วโรงผลิตแห่งที่ 5 กำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน จากเดิม 3,025 ตันต่อวัน มีกำลังการผลิตเต็ม 100% แม้ว่าจะมีการปิดโรงขนาดเล็ก กำลังการผลิต 280 ตันต่อวัน เพื่อซ่อมบำรุงก็ตาม

สำหรับ BigC มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2562 วางแผนเปิดสาขา Hypermarket 8 สาขา เป็นในประเทศไทย 7 สาขา และในกัมพูชา 1 สาขา , Market 1 สาขา และ Mini BigC 300 สาขา โดยสาขาที่เป็น Hypermarket มีการลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อสาขา และ Mini BigC 4.5 ล้านบาทต่อสาขา

“ยังคงมั่นใจรายได้ปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 7-9% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.64 แสนล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 19.1% บริษัทเน้นการบริหารต้นทุนและยอดขายในแต่ละธุรกิจดีขึ้น”

ทางด้านบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ( GOLD) นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน กล่าวว่า รายได้ในปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2563 ยังคงเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 20-25% ตามแผน 5 ปี ซึ่งการเติบโตตามแผนบริษัทจะมีรายได้สูงเป็นอันดับที่ 5 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยปี 2563

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการนำอาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI Center)จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ( REIT)มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องคิดรอบครอบก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นทรัพย์สินหลักที่สร้างรายได้ หากผู้ถือหุ้นอนุมัติใช้เวลาดำเนินการประมาณ 9-10 เดือน

บริษัทจำเป็นต้องหาแหล่งทุนใหม่ เพื่อนำเงินมาลงทุนต่อ และชำระหนี้คืน บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เป็นการซื้อที่ดินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้กระแสเงินสดติดลบเล็กน้อย สำหรับการเปิดโครงการใหม่ 20-25 โครงการ มีการขยายการลงทุนไปต่างจังหวัด โครงการ EEC เชียงราย เชียงใหม่ ชลบุรีและนครราชสีมา

ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้าของบริษัท มีการขอสินเชื่อไม่ผ่านและลูกค้ายกเลิก รวมเกือบ 40% เนื่องจากบริษัทใช้กลยุทธ์ไม่คัดเลือกลูกค้า ต้องการให้ผู้สนใจจองซื้อคึกคัก แต่ไม่มีปัญหาในการขายเนื่องจากมีลูกค้าสำรองจำนวนหนึ่ง

ส่วนการเสนอขายตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ของบริษัท ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ปัจจุบันบริษัทมีบี/อีจำนวน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบึ้ย 2% ทั้งนี้ มีกรอบวงเงินในการออกตั๋วบี/อีถึง 2,000 ล้านบาท แต่จะต้องระมัดระวังหากตลาดเปลี่ยนแปลงหรือประสบปัญหา

“GOLD อยู่ในกลุ่มสิริวัฒนภักดีมีข้อดี เรื่องธนาคารให้การสนับสนุน ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 4% ถือว่าลดลงมาก จากเดิมที่ยังไม่เข้ามาถือหุ้น แต่ก็มีข้อเสีย เรื่องกลุ่มนี้มีการลงทุนสูงมาก การพิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคารต้องนำยอดรวมของกลุ่มมาพิจารณาด้วย” นายสมบูรณ์ กล่าว

ล่าสุดคณะกรรมการบริษัท GOLD อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลประจำปี ในอัตราหุ้นละ 0.46 บาท ให้กับผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในทะเบียนวันที่ 14 ธ.ค. 2561 หลังจากบริษัทมีผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 กำไรสุทธิ 2,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,016 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 92% จากที่มีกำไรสุทธิ 1,093 ล้านบาทในงวด 9 เดือนของงบปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวม จํานวน 15,795.67 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29% มาจากการรับรู้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 3,481 ล้านบาท เติบโต 33% ประสบความสําเร็จจากโครงการที่เปิดใหม่ และโครงการเดิมยังขายโอนได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีรายได้จากการให้เช่าและบริการเพิ่มขึ้น 121.65 ล้านบาท หรือ 15%

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ซื้อที่ดิน ตั้งอยู่บนถนนทางรถไฟสายเก่า ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 24 ไร่เซ มูลค่ารวม 317.33 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ จากบริษัท บางนากลาส ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือกลุ่มสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นทางอ้อม และเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมรายเดียวกับบริษัท เพื่อความโปร่งใสยิ่งขึ้น บริษัทจึงได้ว่าจ้างบริษัทผู้ประเมินอิสระ 2 บริษัท ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.ประเมินราคาเปรียบเทียบ ตีมูลค่าที่ 322 ล้านบาทและ 317 ล้านบาท

บริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองของ GOLD เปิดผลงานประจำปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 มีกำไรสุทธิ 1,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 167 ล้านบาทหรือ เติบโตประมาณ 19% จากระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 838 ล้านบาท บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย บริการและให้เช่า จำนวน 20,873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,125 ล้านบาท หรือ 18% และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจากโครงการสูงและโครงการแนวราบ รวม 16,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,399 ล้านบาท หรือ 17%