ความจริง ความคิด : เล่นหุ้นยังไงดี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP


แค่ข่าวสหรัฐและจีนบรรลุการระงับสงครามการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน โดยประธานธิบดีทรัมป์ยอมรั้งแผนตั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปแล้วเป็นมูลค่ารวมถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเดิมจะเริ่มมีผลวันที่ 1 ม.ค.2562 ที่จะถึงนี้ แลกกับการที่จีนจะยอมนำเข้าสินค้าสหรัฐเพื่อลดช่องว่างการขาดดุลการค้า ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับขึ้นกันทั่วหน้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยวันที่ 3 ธ.ค.61 ปิด +30.81 จุด (1.88%) เลยทันที แม้จะเป็นข่าวดีที่ส่งสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นก็ตาม

แต่เมื่อนึกถึงสัปดาห์ก่อนที่ทุกอย่างยังคลุมเครือ ตลาดหุ้นก็ซึมๆ ขึ้นๆลงๆ ทำให้สงสัยว่า การลงทุนที่มาคอยเก็งข่าวในแต่ละวันว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ใช่กลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้อง? เพราะโอกาสถูกหรือผิด ก็เหมือนโยนหัวก้อย 50: 50 หมายถึงมีโอกาสถูกครึ่งผิดครึ่ง แล้วอย่างนี้การลงทุนของเราจะเติบโตอย่างมั่นคงได้อย่างไร ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า “สมมติว่าตลาดหุ้นปิดไป 10 ปี ในขณะที่คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณจะทำอย่างไร?” ใช่หมายความว่า วอร์เร็น บัฟเฟตต์เลือกลงทุนระยะยาวแทนที่จะสนใจความผันผวนระยะสั้นใช่หรือไม่

โชคดีที่อินเตอร์เนตสมัยนี้ ช่วยให้การค้นหาข้อมูลต่างๆง่ายมากขึ้น ผมเลยพบบทความ “5หลักการเลือกหุ้นแบบ Warren Buffette” จาก Page เล่าเรื่องหุ้น by อ.โอ๊ค ซึ่งน่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางที่หลายคนอยากเป็น VI แต่อาจยังไม่รู้ก็เป็นได้

1.ธุรกิจต้องเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
บัฟเฟตต์ นั้นจะลงทุนในธุรกิจที่เขาสามารถทำความเข้าใจที่มาของรายได้ ค่าใช้จ่าย แหล่งเงินทุนของบริษัทต่างๆที่ลงทุน

“จงลงทุนในขอบเขตความสามารถของคุณ ไม่สำคัญว่ามันจะใหญ่หรือเล็ก”

2.ผลการดำเนินงานต้องสม่ำเสมอ

“สมมติว่าตลาดหุ้นปิดไป 10 ปี ในขณะที่คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณจะทำอย่างไร?”

เป็นคำถามที่บัฟเฟตต์ถาม เมลิสซ่า เทอร์เนอร์ นักเขียนของนสพ. Atlanta Constitution ณ ตอนที่เขาซื้อหุ้น Coca Cola
ความหมายที่บัฟเฟตต์ต้องการจะสื่อคือนอกจากธุรกิจที่เข้าใจได้ง่ายแล้ว ผลดำเนินงานที่สม่ำเสมอเป็นเครื่องยืนยันศักยภาพของธุรกิจที่เปรียบว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าบริษัทยังคงทำธุรกิจได้เหมือนเดิม

3.ต้องมีแฟรนไชส์
บัฟเฟตต์นั้นให้นิยาม 3 ข้อของธุรกิจที่มีแฟรนไชส์ว่า

สินค้าหรือบริการมีความจำเป็นต่อผู้บริโภค
ไม่มีสินค้าทดแทนที่คุณภาพหรือราคาใกล้เคียง
ไม่ถูกควบคุมจากนโยบายรัฐ

ด้วย 3 คุณลักษณะนี้ทำให้ธุรกิจที่มีแฟรนไชส์สามารถเพิ่มราคาขายได้เรื่อยๆโดยไม่ต้องกังวลเรื่องของเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market share)

4.ผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือ
บัฟเฟตต์กล่าวว่า ผู้บริหารของบริษัทที่เขาจะลงทุนต้องมี 3 องค์ประกอบ

มีเหตุผล
การที่ธุรกิจมีวงจรที่แตกต่างกัน (พัฒนา / เติบโต / อิ่มตัว /ถดถอย) นำมาซึ่งกลยุทธ์ในการบริหารที่ต่างกันดังนั้นบัฟเฟตต์จะพิจารณาความสามารถของผู้บริหารว่าสามารถบริหารได้เหมาะสมตามสถานการณ์หรือไม่?

เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
บัฟเฟตต์เน้นข้อนี้มาก จากการผู้บริหารรายงานผลการดำเนินงานอย่างเต็มที่ถูกต้อง หากเกิดความผิดพลาดก็กล้าที่จะยอมรับเหมือนตอนที่ทำผลงานได้ดี ซึ่งเรื่องนี้บัฟเฟตต์เองก็ใช้กับการรายงานผลการดำเนินงานของเบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ที่ตนเองนั้นกล้าที่จะเล่าความผิดพลาดของตนเองให้ผู้ถือหุ้นได้รับรู้ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ทำนองว่าบัฟเฟตต์สามารถทำได้เพราะตนนั้นเป็นเจ้าของเบิร์กไชร์ ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหลายคนเป็นเพียงผู้บริหารรับจ้าง โดยบัฟเฟตต์ได้กล่าวตอบว่า “ผู้บริหารที่ทำให้คนอื่นหลงผิดในที่สาธารณะ สุดท้ายอาจทำให้ตัวเขาหลงผิดในที่สุด”

ยึดมั่นในจุดยืน
ในยุคที่โลกธุรกิจนิยมใช้กลยุทธ์เทคโอเวอร์ หรือการกระจายการลงทุน บัฟเฟตต์กลับมีความเห็นว่าตนนั้นชื่นชอบผู้บริหารที่ยึดมั่นไปกับแนวทางในการทำธุรกิจที่ตนเองถนัดมากกว่าเข้าซื้อธุรกิจที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ

5.ต้องมีมูลค่าและราคาที่เหมาะสม
หากธุรกิจไม่ซับซ้อน ผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ มีแฟรนไชส์ที่สร้างความเจิบโตในระยาวได้ รวมถึงมีผู้บริหารที่น่าเชื่อถือแต่หากว่าหุ้นนั้นมีความสูง หรือ ไม่มีส่วนลด ที่ทำให้บัฟเฟตต์สนใจเขาก็จะปล่อยผ่านไป

บัฟเฟตต์นั้นได้เรียนรู้หลักการเรื่องการซื้อหุ้นที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัย(Margin of safety) จาก เบนจามิน เกรแฮม ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์สามารถที่จะเฝ้ารอการเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาตกแรง และเมื่อราคากลับมาสะท้อนมูลค่าเหมือนเดิมก็จะสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ