“เอส-เทรค” เปิดสาเหตุ ทำไมต้องอยู่ใต้ปีก ECF

“จิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา” บิ๊ก เอสเทรค (ประเทศไทย) เปิดใจ ทำไมต้องซุกปี ECF มองโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แข่งเดือด ต้องใช้เงินทุนสูง เข้าตลาดหุ้นใช้เวลา 3-4 ปี ไม่ทันการณ์

บริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) หรือ S-TREK ดีลเลอร์รายใหญ่ จำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนไอทีและมือถือ 9 ประเภท มีสินค้าพร้อมจำหน่ายกว่า 5,000 รายการ ผ่านช่องทางจำหน่ายตัวแทนที่เป็นศูนย์กลางไอทีขนาดเล็ก ไปถึงขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดถึง 4,000 ร้านค้า เช่น ไอทีซิตี้, JIB, COM 7 หรือ BANANA

S-TREK มีอายุ 26 ปี ผลประกอบการเติบโตทุกปี จาก 250 ล้านบาท ในปี 2551 พุ่งเป็น 4,700 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา นายจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา ผู้บริหาร – เจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ คิดเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 2 ครั้ง แต่ในที่สุดต้องเปลี่ยนแผนหาผู้ร่วมทุนและได้บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 15.3 ล้านหุ้น หรือ 51% โดยที่ นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ECF ไม่ได้ใช้เงินทุนสักบาท แต่ใช้วิธีการแลกหุ้น ให้ ECF เพิ่มทุนชำระค่าซื้อหุ้น S-TREK แทน มูลค่า 510 ล้านบาท

นายจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา เจ้าของผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหาร S-TREK เปิดเผยกับ www.hoonsmart.com ว่า บริษัทฯ เคยให้บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงิน ศึกษานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถึง 2 ครั้งเมื่อหลายปีก่อนจะหยุดไป และปรับแผนมาเป็นการหาผู้ร่วมทุนแทน เนื่องจาก ความจำเป็นต้องใช้เงินทุน เตรียมตัวรับการเปลี่ยนถ่ายจากยุค 4.0 ไปสู่ 5.0 ในปีหน้า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องรอเวลา 3-4 ปีข้างหน้า ไม่ทันการใช้เงินทุน

จิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา

“ผมเตรียมตัวมา 2 รอบ รีเซ็ตมา 2 ครั้ง ผมสร้างธุรกิจมากับมือตั้งแต่เดย์วันคนเดียว โตมาแบบก้าวกระโดด คิดเข้าตลาดด้วยตัวเอง แต่การศึกษาไม่จริงจัง ทำให้ผมล้มเลิกเข้าตลาด มันเป็นจังหวะของการเปลี่ยนถ่ายอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ผมมานั่งดู การขยายธุรกิจต่อไปลำบาก ซึ่งปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนไปสู่ยุค 5.0 ซึ่งทำให้ชีวิตง่ายขึ้นมหาศาล แต่การแข่งขันก็สูง ใช้เงินสูงมาก หากรอเข้าตลาดผมไม่ทันใช้เงิน บริษัทเอสเทรค need การเงินทุน ขณะที่ ECF need เติบโต ผมเห็นโอกาสปีหน้า มองสมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ ซึ่งเอสเทรค มีการทำงานล่วงหน้าไปแล้ว การเลือกผู้ร่วมทุน ECF เพราะชอบคาร์เรกเตอร์ของผู้บริหาร (อารักษ์ สุขสวัสดิ์) ที่ไม่มองเรื่องผลประโยชน์ทั้งหมด ชอบวิชั่นและความคิด จังหวะที่ไม่เข้าตลาดหุ้น เทคโนโลยีเปลี่ยนรวดเร็ว ใช้เงินจำนวนมาก ผมจึงต้องเลือกพันธมิตรแทน”

นายจิรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปี 2560 มียอดขาย 4,700 ล้านบาท โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตอย่างมากจากการขายการ์ดจอ คอมพิวเตอร์ที่นักลงทุนบิทคอยน์แห่ทำเหมืองขุดบิทคอยน์ ส่วนช่วง 9 เดือน/2561 ยอดขายชะลอตัว เพราะอยู่ในช่วงรอการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีปี 2562 ทำให้ลูกค้าชะลอการสั่งของ

“ไอทีทุกวงการ มีปัญหากำไรสุทธิที่บางมาก แต่สิ่งที่เอสเทรคทำต่างจากบริษัทอื่น การที่ผมมีสินค้าหลายพันรายการ ทำโซลูชั่นสร้างมูลค่าให้กับสินค้า หรือทำส่วนผสมเป็นสินค้าสำเร็จรูป ขายเซอร์วิส (งานบริการ) ทำให้กำไรผมมากกว่าอุตสาหกรรม”

นอกจาก เอสเทรค เป็นดีลเลอร์ไอที-มือถือรายใหญ่แล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดจำหน่ายแฟลชไดร์ฟ แบรนด์ “TREK” จากสิงคโปร์ ซึ่ง “TREK” เป็นผู้ผลิตแฟลชไดร์ฟ ครั้งแรกของโลก นอกจากนี้ เอสเทรค ยังได้รับแต่งตั้งจาก ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายฮาร์ดดิสก์ “Seagate” เป็นต้น ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 300 ล้านบาท ECF ถือหุ้นใหญ่ 51%