KTBSTแนะเล่นสั้นกลุ่มโภคภัณฑ์

บล.เคทีบี มองตลาดหุ้นยังผันผวน จีนยังไม่มีท่าทีประนีประนอมสหรัฐ คาดนักลงทุนชะลอซื้อขาย แนะเล่นสั้นหุ้นบิ๊กแคปกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

นายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินปัจจัยการลงทุนในวันนี้ (3 พ.ค.) ว่า ผลการประชุม Fed เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% จากในช่วงก่อนหน้า ด้วยมุมมองด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ส่งผลให้ความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยประจำเดือนมิถุนายนขยับขึ้นจาก 91.6% เป็น 96.7% จากช่วงก่อนหน้า ทาง KTBST ยังคงประมาณการว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง จะเป็นการปรับครั้งละ 0.25% และการปรับขึ้นจะเกิดทุกๆไตรมาส ขณะที่ตัวเลขตลาดแรงงานประกาศออกมาอยู่ที่ 2.04 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ 2 แสนตำแหน่ง แต่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.3แสนตำแหน่ง

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยในวันนี้ คาดว่าดัชนีฯอาจผันผวนและอ่อนตัวลงจากวันก่อน แม้ Fed คงดอกเบี้ย ไม่กังวลเงินเฟ้อ ทำให้ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯลดลงมาอยู่ที่ 2.96% แต่ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าต่อ ประเด็นที่น่าสนใจวันนี้ คือสหรัฐฯ-จีน จะเริ่มเจรจาการค้ากัน โดยทางจีนก็ยังไม่มีท่าทีประนีประนอมกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ด้วยตลาดยังไม่คลายความกังวลต่อปัจจัยภายนอกทั้งดอกเบี้ยสหรัฐฯ-สงครามการค้า อีกทั้งราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงด้วย ดังนั้นในระหว่างวันจึงต้องติดตามแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ว่าจะขายต่อหรือกลับเข้ามาซื้อหุ้นหลังทราบผลประชุม Fed ไปแล้ว

สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ยังแนะนำเน้นลงทุนสั้นๆเพราะความไม่แน่นอนของทิศทางตลาด เน้นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยเฉพาะตัวในกลุ่ม Commodity แนะนำ IVL และ BANPU จากราคาถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นมาแตะ $100 เหรียญ/ตัน กลุ่มโทรศัพท์ได้แก่ TRUE มองว่าได้ประเด็นบวกจากการประมูลคลื่นโทรศัพท์ในอีกไม่นานและร่วมถ่ายทอดฟุตบอลโลกปีนี้ (เริ่ม 14 มิ.ย.) ขณะเดียวกันตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น จาก 79.9 เป็น 80.9 แนะนำ CPALL, ROBINS

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือรายงานอัตราเงินเฟ้อยุโรป คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 1.3% จากช่วงก่อนหน้าและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะออกอยู่ 0.9% ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 1% และทางสหรัฐฯจะมีการรายงานดุลการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าจะขาดดุล 50 พันล้านเหรียญ ขาดดุลลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 57.6 พันล้านเหรียญ และตัวเลขด้านการผลิตอย่าง ISM โดยคาดว่าจะออกมาอยู่ที่ 58.1 ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 58.8