บล.เอเซียพลัส สั่งลุยเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย 50%

บล.เอเซียพลัส มองหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง Fund Flow ไหลกลับไทย ประเด็นสงครามการค้าผ่อนคลาย ให้เป้า SET 1,795 จุด แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย 50 % ราคาน้ำมันปีหน้า 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดอกเบี้ยไทยขาขึ้น

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ขณะนี้ปัจจัยสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ที่เป็นปัจจัยหลักกดดันตลาดหุ้นไทย มีทิศทางดีขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีท่าทีประนีประนอม สหรัฐฯ ยอมเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญฯ ออกไป 90 วัน ขณะที่จีนยินยอมซื้อสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบที่ 4 วงเงินอีก 2.67 แสนล้านเหรียญฯ คาดว่าจะไปพูดคุยกันอีกครั้งในเดือน เม.ย. 2562

นางภรณี เชื่อว่า ปีหน้า Fund Flow จะไหลกลับตลาดหุ้นเอเซีย เพราะตั้งแต่ปี 2556 สหรัฐส่งสัญญาณปรับลดมาตรการ QE ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6.12 แสนล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้นไทยของต่างชาติ ล่าสุดเหลือ 29.57 % ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่าปกติมาก

ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง จากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงตั้งแต่เดือน เม.ย.2561 บวกกับผลกระทบจากสงครามทางการค้าโลกกดดันกำลังซื้อ และราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าใกล้สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และส่งผลสืบเนื่องไปยังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Bond yield) ของสหรัฐฯ เริ่มลดลง สวนทางเอเชียบางประเทศ ที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพราะยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก

แม้ว่าสงครามการค้าจะกระทบ ทำให้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัว 3.5% ชะลอตัวลงจาก 4% ในปี 2561 โดยภาคการส่งออกจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยลงนับจากนี้ แต่จะเห็นการลงทุนและการบริโภคครัวเรือนขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน โดยในส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะยังเน้นไปที่ EEC ส่วนการลงทุนภาครัฐ น่าจะสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลชุดเก่าได้วางแผนระยะยาวไว้แล้ว

โดยคาดว่าในปี 2562-2565 จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงการที่เหลืออยู่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอีกราว 2 ล้านล้านบาท หรือราว 83.4% ของวงเงินทั้งหมด หรือเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือน จากการวางนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่ยังมีอยู่ จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่การเมืองไทย หลังเห็นกำหนดการนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในวันที่ 24 ก.พ.2562 แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีโอกาสได้รัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง ทำให้มีเสถียรภาพน้อย แต่การได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น

คุณภรณี กล่าวด้วยว่า แม้เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะเติบโตชะลอลงจากปี 2561 แต่ไทยยังมีจุดแข็งด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง รองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้นาน 11 เดือน และยังครอบคลุมหนี้สินต่างประเทศได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเซีย ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการปี 2562 แม้ประเมินว่าจะเติบโตเพียง 3.3% เมื่อเทียบจากปีก่อน เพราะมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2562 ลง 5 เหรียญสหรัฐฯ จาก 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล มาที่ 65 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ย 70.9 เหรียญฯ ในปี 2561 ส่งผลให้มีการปรับลดกำไรกลุ่มพลังงานลงกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังปรับลดกำไรกลุ่มปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และ ICT ลงเช่นกัน

โดยกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2562 จะลดลงเหลือ 112.2 บาทต่อหุ้น จากเดิม 115 บาทต่อหุ้น แต่ด้วยระดับ Expected P/E ปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 14.4 เท่า เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในภูมิภาค อีกทั้ง กระแส Fund Flow ที่น่าจะไหลกลับในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2562 จะช่วยหนุนให้ P/E ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปแตะ P/E 16 เท่าได้

จึงมองดัชนีฯ เป้าหมายปี 2562 ไว้ที่ 1,795 จุด พร้อมกับแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 50% จากเดิม 40% โดยมองความเสี่ยงภายนอกยังมีอยู่ จึงเน้นเลือกลงทุนหุ้นรายตัว ที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ และเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น : KBANK
หุ้นส่งออกที่ปรับตัวจากผลกระทบการค้าโลกได้ : HANA หุ้นสาธารณูปโภค : SCC, STEC, WHA
หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภาคครัวเรือน : ADVANC, DTAC, BJC, CPALL, PLANB