เป้าใหม่ BEM 12 บาท แนะซื้อถือลงทุนยาว

BEM กอดคอ CK วิ่งแรง บริษัททางด่วนฯขึ้นผู้นำการถือสัมปทานบริหารโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หลังบอร์ดกทพ.ไฟเขียว ขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไป 37 ปี แก้เงื่อนไขดีเกินคาด บริษัทยังมีรายได้จากวงกลมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 32 ปี นักวิเคราะห์แห่ปรับเป้า บล.ดีบีเอสให้มูลค่า 11.50-12 บาท เมย์แบงก์ฯให้ 12 บาท แนะซื้อลงทุนระยะยาว กำไรโตก้าวกระโดด

ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลงมากกว่า 5 จุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ขณะที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM)วิ่งนำตลาด ราคาดีดขึ้นสูงสุดถึง 9.95 บาท ก่อนย่อมาซื้อขายบริเวณ 9.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาทหรือ 5.95% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 1,024 ล้านบาท และหุ้นบริษัท ช.การช่าง(CK)ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 30% ขยับตาม ราคาซื้อขายที่ 25.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาทหรือ 3.66%

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์หุ้น BEM โดยปรับราคาหุ้นเหมาะสมขึ้นราว 20-25% เป็นประมาณ 11.50-12.0 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 9.60 บาท หลังจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดกทพ.) ไฟเขียวขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุด 27 ก.พ.2563 ออกไป 37 ปี เพื่อลดหนี้ข้อพิพาทที่มีต่อกันระหว่างกทพ.กับ BEM มูลค่าประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และมีการปรับสูตรการขึ้นค่าผ่านทางใหม่ โดยให้ปรับขึ้นทุกๆ 10 ปี ในอัตรา 10 บาท และแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้กทพ. 60% ตลอดอายุสัมปทาน นอกจากนั้น BEM จะร่วมลงทุน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและแก้ปัญหาจราจร

ทั้งนี้จะเสนอข้อตกลงให้กับสคร.และบอร์ด PPP พิจารณาต่อ เพราะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จากนั้นจะเสนอครม.พิจารณาต่อไป

“ผลการเจรจาออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้และเป็นบวกกับ BEM สัมปทานที่ได้ต่ออายุ คิดเป็น 50-60% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น การปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางก็ชัดเจนขึ้น โดยไม่ต้องไปอิงกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มอยู่ในอัตราต่ำทำให้ปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางไม่ง่ายนัก ไม่ต้องใช้เงินลงทุนใหม่จำนวนมาก รวมทั้งการยืดอายุสัมปทาน ทำให้การตัดค่าเสื่อมทางบัญชีจะลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2562 จะเติบโตสูงขึ้น “ฝ่ายวิจัยบล.ดีบีเอสฯระบุ

บล.กสิกรไทย แนะนำซื้อ แม้ราคาหุ้นขณะนี้จะสูงกว่าราคาเป้าหมาย 8.70 บาท เนื่องจากประมาณการ ยังไม่ได้นำปัจจัยการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่สองที่กำลังจะหมดอายุในปี 2563 ทั้งนี้ เป็นสัมปทานหลักคิดเป็นรายได้ 40% ของทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าราว 1.80 – 2.70 บาท/หุ้น และจะทำให้กำไรในปี 2563 เป็นต้นไป มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)แนะนำ “ซื้อลงทุนระยะยาว” ปรับราคาเป้าหมายเป็น 12 บาท/หุ้น หลังการต่ออายุสัมปทานทางด่วนดีกว่าที่ตลาดและเราคาดไว้ที่ 10-20 ปี และสัดส่วนการแบ่งรายได้ลดลง จะส่งผลให้ BEM ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการถือสัมปทานบริหารโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่นทางด่วน 37 ปี , วงกลมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 32 ปี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดกังวลกับ 2 ประเด็นหลัก การเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะหมดอายุในปี 2563 จากนี้เรามองว่าความกังวลจะถูกผ่อนคลายพลิกกลับมาเป็น Upside ต่อบริษัท

นอกจากนั้น BEM ยังมี Upside ต่อประมานการ จาก 1. สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก-ตก 2. สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย และ 3.สัมปทานทางด่วน C+,D
โดยเราคงมุมมองเชิงบวกธุรกิจที่ค่อนข้าง Defensive พร้อมปรับประมาณการราคาเหมาะสมขึ้นเป็น 12.0 บาท/หุ้น จากการขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปี จนถึงปี 2600 แนะนักลงทุนซื้อลงทุนระยะยาว

“ทุกฝ่าย Win และสัมปทานที่ได้ดีกว่าที่ตลาดคาด นอกเหนือจากประเด็นการต่อสัมปทานทางด่วนที่ส่งผลบวกต่อรายได้แล้ว ในปี 2562/63 ยังจะเป็นช่วงเวลาที่ดีของบริษัทที่รอคอยมานานกว่า 5 ปี นั่นคือการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คาดจะส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดดที่ 40% ภายหลังเปิดให้บริการครบวงกลมในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจทางด่วนกลายเป็นตัวสร้างเงินสด (Cash cow) ในขณะที่รถไฟฟ้าสร้างการเติบโต “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งระบุ

บล.ทรีนีตี้ ให้คำแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ราคาเป้าหมายใหม่ อยู่ระหว่างปรับประมาณการ โดยมองว่า การต่ออายุสัมปทานทางด่วนอีก 37 ปี เป็นผลบวกต่อ BEM ความกังวลหมดไป ต่อจากนี้จะมีแต่ปัจจัยบวก ทั้งการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายในเดือนกันยายนปีหน้า รวมไปถึงการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ส่วนต่อขยาย และสายสีส้ม หรือประมูลเส้นทาง motorway ต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ ” Neutral ” เป้าราคา 7.9 บาท , บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย ) แนะนำ “ซื้อ ให้ราคาเหมาะสม 12 บาท และบล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ ” ให้ราคาเหมาะสมปี 2519 ที่ราคา 9.70 บาท