CAZ กำหนดช่วงราคา IPO หุุ้นละ 3.60 – 4.10 บาท

“ซี เอ แซด” กำหนดช่วงราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ 3.60 – 4.10 บาท ก่อนเคาะราคาสุดท้าย 4 ม.ค.62 พร้อมลุยขายหุ้นไอพีโอ 80 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมสายงานวาณิชธนกิจ – ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการอนุญาตและมีผลบังคับใช้ไฟลิ่ง (Filing) การขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยมีการกำหนดราคาเบื้องต้นเป็นช่วงราคา 3.60 – 4.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ในภายหลังจะมีการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) เพื่อให้นักลงทุนจองซื้อในลำดับต่อไป

รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์

“การกำหนดช่วงราคาดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาเบื้องต้น ไม่ใช่การทำสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (book building) ส่วนราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) คาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ถือหุ้นของ TAKUNI ที่ได้รับสิทธิ์การจอง (Pre – emptive right) ภายในวันที่ 4 ม.ค.62″นายรัฐชัย กล่าว  

นางปิยะภา จงเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ CAZ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา CAZ ได้มีการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนและประชาชน หรือ โรดโชว์ ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดี
โดย CAZ วางแผนเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะเสนอขายและเข้าจดทะเบียนใน mai ได้ภายในต้นปี 2562

ซุง ซิก ฮอง

ด้านนายซุง ซิก ฮอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) กล่าวว่า การระดมทุนของบริษัทในครั้งนี้ ทำให้บริษัทเพิ่มความสามารถของการรับงานในอนาคต โดยการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแก่ธนาคาร ลงทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาด้านไอที และเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ อีกทั้งการประกอบธุรกิจของบริษัทมีให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการบริหารจัดการงานรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจรในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในทุกขั้นตอน โดยช่องทางการรับงานมีทั้งการให้บริการตรงจากบริษัทเจ้าของโครงการ (Project Owner) และจากบริษัทผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) โดยการให้บริการส่วนใหญ่เป็นงานที่มีความซับซ้อน และมีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำให้ต้องอาศัยความชำนาญ

ลักษณะงานและการบริการแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.บริการรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร (Engineering, Procurement and Construction: EPC) 2.บริการรับเหมาก่อสร้างติดตั้งโครงสร้างและระบบ (Structural Mechanical Piping (SMP) and Electrical and Instrument Service) 3.บริการงานด้านวิศวกรรมโยธาและอาคาร (Civil and Building Service) และ 4.บริการผลิต ประกอบ และบริการอื่น (Fabrication and Other Service)